สวนวังพลากรเมืองตาก สยายปีกปลูก‘อะโวคาโด’ในเมียนมา

หากติดตามข่าวคราวการปลูก “อะโวคาโด” ในบ้านเรา จะเห็นว่าเริ่มแพร่หลายขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีผู้คนนิยมรับประทานกันมากขึ้น และส่วนหนึ่งนำมาแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม หรือทำเป็นอาหารเสริม เรียกว่าเป็นผลไม้ทำเงินอีกชนิด เพราะหากไปซื้อในตลาดอย่างน้อยแม่ค้าขายก.ก.ละ 40-80 บาท บางช่วงเป็น 100 บาทก็มี

“คุณวรเชษฐ์ วังพลากร” เจ้าของสวนวังพลากร ในเนื้อที่ 19 ไร่ อยู่ที่ ต.รวมไทย อ.พบพระ จ.ตาก ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องอะโวคาโดคนหนึ่งของเมืองไทย และน่าจะเป็นรายใหญ่ด้วย โดยมีต้นอะโวคาโดพันกว่าต้น ประมาณ 98%

ส่วนที่เหลือปลูกเงาะและทุเรียนไว้รับประทานเอง จากที่ก่อนหน้านี้เคยปลูกส้มมาก่อน แต่เจอปัญหาโรครุมเร้าจนขาดทุน ต้องปรับมาปลูกอะโวคาโดแทน และยังขยายไปปลูกอะโวคาโดอีกแปลงในเนื้อที่ 80 กว่าไร่ พร้อมกันนั้นยังชักชวนเกษตรกรมาร่วมเป็นเครือข่ายเพื่อส่งผลผลิตให้ นอกจากนี้ยังไปปลูกที่เมืองตองยี ประเทศเมียนมาด้วยจำนวนกว่าหมื่นต้น

รายงานพิเศษ

คุณวรเชษฐ์เล่าที่มาที่ไปของสวนแห่งนี้ว่า สมัยก่อนเห็นเกษตรกรที่ อ.พบพระ ปลูกอะโวคาโดตามหัวไร่ปลายนาเต็มไปหมด และมักนำไปให้หมูกิน กระทั่งได้ไปดูงานประเทศนิวซีแลนด์ และได้ไปสวนอะโวคาโดที่นั่น จึงได้ซื้อยอดพันธุ์แฮส นิวซีแลนด์มาเสียบ 80 กว่ายอด

แต่เสียบติดเพียง 14-15 ต้น สุดท้ายเหลือ 10 ต้น เลยนำมาลองปลูกที่ อ.พบพระ ช่วงปลายปี 2552 เพราะตอนนั้นทำอาชีพเป็นโบรกเกอร์หามันฝรั่งป้อนให้บริษัทเลย์ฯ อยู่ที่นี่ด้วย พอปีที่ 3 ก็ออกดอก

จากนั้นเลยลองตัดยอดมาเสียบ ลองผิดลองถูกในการขยายพันธุ์ ซึ่งเวลานั้นค่อนข้างยาก ไม่เหมือนในปัจจุบันที่รู้เทคนิคต่างๆ เนื่องจากร่วมมือกับทางนิวซีแลนด์ ประกอบกับทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ก็สนใจ โดย ดร.ฐิติพรรณ ฉิมสุข ทำวิจัยเรื่องสารสกัดน้ำมันจากอะโวคาโด

และต่อยอดไปถึงผลิตภัณฑ์ทำเป็นตัวเซรั่มเพราะมีสารแอนตี้ออกซิแดนต์ ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยทำให้ผิวหน้าตึง ชะลอริ้วรอย และได้รางวัลเหรียญทองแดงกลับมาจากการประกวดที่เกาหลีใต้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

รายงานพิเศษ

หลังจากเห็นว่าปลูกอะโวคาโดที่นี่ได้ผล เลยเลิกอาชีพโบรกเกอร์มันฝรั่ง และหันมาปลูกอะโวคาโดอย่างจริงจังเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา โดยลงทุนเรื่องระบบน้ำ และนำสายพันธุ์ต่างๆ มาเสียบยอด

คุณวรเชษฐ์ให้ข้อมูลว่า ในการปลูกนั้นไปได้ดี แต่เมื่อ 6 ปีที่แล้วติดปัญหาเรื่องการหาตลาดค่อนข้างยาก เพราะคนไทยไม่ค่อยนิยมกัน แตกต่างจากปัจจุบัน

ในสวนวังพลากรนั้นมีอะโวคาโดหลากหลายสายพันธุ์ อาทิ บัคคาเนีย, แฮส, ปีเตอร์สัน และสายพันธุ์พื้นเมือง พบพระ 08 และพบพระ 14 ซึ่งแต่ละพันธุ์มีจุดเด่นแตกต่างกัน อย่างที่เจ้าของสวนรายนี้ ระบุว่า อย่างพันธุ์แฮสจะมีความหอมลึกๆ มีความเหนียว และไม่ฉ่ำน้ำ ในส่วนรองลงมาเป็นพวกที่ตลาดล่างและตลาดกลางต้องการมากที่สุด คือบัคคาเนีย รูปทรงจะใหญ่ ผลผลิตสูงต่อต้นหลัก 300 กิโลกรัม (ก.ก.) เมื่อปลูกได้ 5-6 ปี

รายงานพิเศษ

สำหรับพิงเคอร์ตัน รูปทรงเหมือนแฮส แต่ใหญ่กว่า คล้ายๆ ลูกแพร์ ค่อนข้างจะสวย แต่ก้านกับขั้วก้านเล็ก เวลาเชื้อราเข้าทำลายจะร่วงเลย ไม่ค่อยทนทาน

คุณวรเชษฐ์อธิบายถึงสายพันธุ์พบพระ 08 พบพระ 14 ว่า เป็นพันธุ์พื้นเมือง ที่คัดแล้วว่า 1.ทนต่อโรค โดยเฉพาะโรคไฟท็อป หรือโรคใบไหม้ ซึ่งเป็นเชื้อราที่ทำลายตั้งแต่ยอดลงระบบราก แล้วทำให้รากเน่า โคนเน่า 2.ให้ผลผลิตสูง 3.เนื้อคุณภาพดี เนื้อเหนียวแห้งไม่ฉ่ำน้ำเหมือนพันธุ์พื้นเมืองทั่วๆ ไป

ถามถึงการขายผลผลิต เจ้าของสวนวังพลากรบอกว่า ขายในตลาดการท่องเที่ยวเป็นหลัก อย่างตลาดดอยมูเซอ เป็นเกรดรองๆ เพราะขายมาตั้งแต่ต้นแล้ว แต่ถ้าเกรดสูงหน่อยจะส่งเข้ากรุงเทพฯ แต่ยังไม่มีปริมาณมากพอที่จะส่งห้าง ซึ่งที่ผ่านมาทางห้างก็ติดต่อไปคุยเหมือนกัน แต่ผลผลิตยังไม่มากพอส่ง ขณะที่มีเงื่อนไขต่างๆ อีกอย่างผลผลิตทุกวันนี้ก็มีพ่อค้ามาถึงสวนอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องไปขายที่อื่น

รายงานพิเศษ

ยามนี้นอกจากสวนพลากรยังมีผลผลิตขายแล้ว ยังขายกิ่งพันธุ์ที่ใช้วิธีทาบกิ่งด้วย พร้อมกันนี้ก็ยังชักชวนเกษตรกรในละแวกนั้นและที่ จ.กำแพงเพชร มาเป็นเครือข่ายปลูกอะโวคาโด โดยสนับสนุนในเรื่องกล้าพันธุ์ พร้อมรับซื้อผลผลิต ซึ่งมีเครือข่ายอยู่ประมาณ 700 ไร่ แต่ปีนี้ตั้งเป้าให้ได้ 1,200 ไร่

ในการปลูกคุณวรเชษฐ์แนะนำว่าต้องขุดหลุมลึก แค่ 50 ซ.ม. กว้าง 1 เมตรครึ่ง ไม่ให้ปลูกในหลุมลึก จะได้ดูแลในเรื่องของระบบรากได้ดีขึ้น ใส่มูลสัตว์ขี้วัวขี้ไก่ลงไปในหลุม แต่ถ้าเป็นขี้ไก่ต้องไปหมักก่อน หากช่วงปลูกไม่มีฝนก็ให้รอฝน ส่วนการปลูกด้วยเมล็ดนั้นกลายพันธุ์ 100%

ที่ผ่านมาผลผลิตของสวนเป็นที่น่าพอใจ อย่างที่คุณวรเชษฐ์บอก ถ้าเป็นพันธุ์แฮส ต้นอายุ 6 ปี ให้ผลผลิตอยู่ที่ 150 ก.ก.ต่อต้น ต่ำสุด 30-40 ก.ก.

รายงานพิเศษ

กรณีช่วงปลูก 3 ปี อะโวคาโดยังไม่ออกผลผลิต เขาแนะนำเกษตรกรว่า ปัจจุบันปลูกผัก ปลูกข้าวโพด ปลูกพริกอยู่ก็ปลูกตามปกติ แต่ถ้าใช้สารเคมีประเภทยาฆ่าหญ้าจะมีผลต่ออะโวคาโด โดยเฉพาะตอนที่ต้นยังเล็กอยู่ ดังนั้น ต้องล้อมด้วยสแลน 1 เมตร

ในการขายกิ่งพันธุ์นั้นเขาขายกิ่งละ 200 บาททุกพันธุ์ และ ในการปลูกแต่ละต้นควรมีระยะห่าง 7-8 เมตร เพื่อไม่ให้ต้นติดกันจนเกินไป

ส่วนกรณีที่เกษตรกรบางคนคิดว่าอะโวคาโดต้องปลูกในที่สูงและในเมืองหนาวนั้น ประเด็นนี้คุณวรเชษฐ์ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ฟังว่า ที่ปลูกตั้งแต่ 400-1,200 เมตร จะเห็นความแตกต่าง คือตั้งแต่ 600-800 เมตร ช่วงนี้เป็นช่วงดีที่สุด ผลผลิตสูง คุณภาพเนื้อค่อนข้างดี

แต่ช่วงที่ความสูงสัก 1,000 เมตรขึ้นไปเปลือกเริ่มเปลี่ยนเริ่มแข็งๆ และเก็บได้ช้าขึ้น จากเดิมต้องเก็บ 10 เดือน เลื่อนเป็น 11-12 เดือน ส่วนคุณภาพถ้าปลูกในพื้นที่ 1,200 เมตร คุณภาพจะด้อยลงมา แต่ถ้าปลูกในพื้นที่ต่ำกว่า 400-500 เมตร ผลผลิตจะสุกเร็วขึ้นและมีความฉ่ำเรื่องน้ำเพิ่มขึ้นมา

รายงานพิเศษ

เจ้าของสวนวังพลากรให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่อยากปลูกอะโวคาโดว่า ในเบื้องต้นต้องดูว่ามีความรู้แค่ไหน มีตลาดรองรับไหม และก่อนที่จะมีผลผลิตจะมีพืชตัวไหนทำรายได้ให้บ้าง ถ้าสนใจอยากรู้เรื่องอะโวคาโด หรืออยากจะเข้าไปดูสวน ซื้อกิ่งพันธุ์ ติดตามได้ที่ เพจ Avocado in Thailand สอบถามได้ที่ 08-1950-5574

นอกจากสวนวังพลากรจะขายกิ่งพันธุ์และผลผลิตแล้ว คุณวรเชษฐ์ ยังนำผลอะโวคาโดตกเกรดไปสกัดแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ไม่ว่าจะเป็นแชมพู ครีมนวด และสบู่ก้อนที่มีส่วนผสมจากอะโวคาโด ชื่อแบรนด์ “เมอร์ตี้” (Merty) ทำให้ตลอดทั้งปี มีรายได้จากการขายผลอะโวคาโดสด และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากอะโวคาโด หลักล้านกว่าบาทต่อปี

เป็นเเกษตรกรรุ่นใหม่อีกรายที่ทำครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำให้มีรายได้อย่างต่อเนื่องและเป็นกอบเป็นกำ

โดย ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน