โรงเรียนราโมง สอน 2 ระบบ หวังฝึกนักเรียน ยึดมั่นศิลธรรม-ศาสนา

ยึดมั่นศิลธรรม-ศาสนา – เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่โรงเรียนบ้านราโมง อ.เบตง จ.ยะลา พ.อ.ไตรเทพ เรื่องสอน ผอ.ส่วนงานบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วยนายวาทิต มีสนุ่น ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ศปบ.จชต.) และนายโกมุท รุยอ่อน ผอ.สพป.ยะลา เขต 3 ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการเรียนการสอนของของโรงเรียนบ้านราโมง

นายโกมุท กล่าวว่า โรงเรียนบ้านราโมง อ.เบตง จ.ยะลา ก่อตั้งปี 2514 สอนนักเรียนตั้งแต่ อ.1-ม.3 โดยสอน 2 ระบบ คือแบบสามัญ และอิสลามแบบเข้ม การก่อตั้งโรงเรียนแห่งนี้สอดคล้องความต้องการพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่อยากให้ลูกหลานเป็นคนดีมาก่อนที่จะเป็นคนเก่ง ยึดมั่นในศิลธรรม และศาสนา

โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในพื้นที่ก็สนับสนุนเรื่องศาสนาให้สอดคล้องกับความต้องการ ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะที่จะเป็นประโยชน์มุมมองต่อการพัฒนาพื้นที่ คือคนที่นี้สนใจภาษา อยากให้เด็กพูดได้เขียนได้ เพราะจะเกิดประโยชน์ต่อความสัมพันธ์ในกลุ่มอาเซียน จึงอยากให้สนับสนุนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษา มีครูด้านภาษาเพื่อจัดการเรียนการสอนได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และจะเกิดประโยชน์ สามารถแข่งขันกับภูมิภาคนี้ได้

นายวาทิต กล่าวว่า นักเรียนภาคใต้มีความสามารถด้านภาษาเด่นกว่าภาคอื่นๆ ถ้าวัดกันตามบริบทคุณภาพถือว่าไม่ต่ำ ทั้งนี้เรายังได้เน้นเรื่องภาษาไทย เพื่อพัฒนาการอ่านการเขียนให้ผ่านหลักเกณฑ์ให้ดีขึ้นด้วย

ส่วนนายบาฮารอดิง เจ๊ะและ ผอ.โรงเรียนบ้านราโมง กล่าวว่า โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนขนาดกลาง มีการสอบอิสลามแบบเข้ม ทำให้ชุมชนที่นี้ให้ความยอมรับในโรงเรียน โดยมีการสอน ภาษาอาหรับและมลายู เมื่อจบแล้วได้รับวุฒิศาสนาด้วย

ขณะที่คุณครูโรงเรียนบ้านราโมง กล่าวว่า สำหรับหลักสูตรอิสลามศึกษาแบบเข้มนั้นคือหลักสูตรที่มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนเป็นคนที่มีศรัทธามั่น มีความจงรักภักดีต่อพระอัลเลาะห์ มีบุคลิกภาพตามแบบอย่างของนบีมุฮัมหมัด เพื่อพัฒนาตนเองครอบครัว และสังคม ก่อให้เกิดสันติสุข โดยแบ่งเป็น 8 สาระการเรียนรู้

อาทิ อัลกุรอาน อัลหะดีษ ภาษาอาหรับ และภาษามลายู ผลที่ได้รับถือเป็นโอกาสที่ดี เพราะก่อนหน้านี้ผู้ปกครองต้องการให้ลูกหลานเรียนศาสนา เมื่อโรงเรียนรัฐเปิดหลักสูตรศาสนาอิสลามเข้มขี้นมา ทำให้ลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเป็นอย่างมาก

รวมถึงเด็กได้อยู่กับครอบครัว เพราะไม่ต้องเข้าไปเรียนในเมือง อย่างไรก็ตามตนมั่นใจว่าโรงเรียนเราเป็นโรงเรียนสีขาว ไม่มียาเสพติด ไม่มีนักเรียนสูบบุหรี่ และนักเรียนสามารถใช้ชีวิตในสังคมพหุภาคีได้ อีกทั้งโรงเรียนเรามีเด็กไทยพุทธด้วยสามารถพูดภาษามลายูได้ ถือเป็นผลดี

สำหรับปัญหาและอุปสรรคนั้นวิทยากรทางการศึกษายังมืดมน อยากให้ช่วยกันดูแลขวัญและกำลังใจ โดยเฉพาะเรื่องการจ้างงาน ทั้งนี้บทบาทอิสลามศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อ.เบตง ถือเป็นประตูสู่อาเซียน เรามีบทบาทมากในการศึกษาไทยและมาเลเซีย ที่ผ่านมาได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิชาการและวัฒนธรรม

จึงอยากให้การศึกษาไทยได้เปิดโอกาสให้ชายแดนใต้ ซึ่งอิสลามศึกษาถือเป็นมิติหนึ่งในชายแดนใต้ และตอบสนองตามแนวทางพระราชทานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ว่า เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา

 


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน