‘วันนอร์’ลั่น ยกเลิกกฎหมายพิเศษ 3จว.ใต้ ให้เคส ‘อับดุลเลาะ’ เป็นรายสุดท้าย

‘อับดุลเลาะ’ / เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 26 ส.ค. ที่ ห้องประชุมมูลนิธิมะดีนะตุลสลาม ม.4 ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี นายวันมูฮัมหมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ และส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคประชาชาติ

เดินทางมาติดตามการก่อสร้างโรงพยาบาลเชคญาซิม บินมูหัมหมัด อัลษานีย์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่เป็นโครงการของมหาวิทยาลัยอัลฟาฏอนี

ทั้งนี้นายวันมูฮัมหมัดนอร์ เปิดเผยกรณีนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ อายุ 34 ปี บุคคลต้องสงสัย ที่หมดสติขณะถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ที่ ค่ายอิงคยุทธบริหาร ซึ่งเสียชีวิต ที่ โรงพยาบาล ม.อ.หาดใหญ่ เมื่อเวลาประมาณ 04.00 น. ของวันที่ 25 ส.ค. ที่ผานมา รวมเวลาทั้งสิ้นที่นายอับดุลเลาะ เข้ารับการรักษาตัวเป็นเวลา 35 วันว่า

ในฐานะที่เป็นส.ส.ในประการแรกเราก็เสียใจกับข่าวการเสียชีวิตของ นายอับดุลเลาะกับญาติของเขาด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็คิดว่าอย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตของเขาอยู่ในช่วงการดูแลควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ตอนที่เขาสลบไม่รู้สึกตัวและอาการสมองบวมเมื่อมาถึงโรงพยาบาล ก็อยู่ในช่วงในการดูแลของเจ้าหน้าที่มาโดยตลอด และมาเสียชีวิตลงพี่น้องประชาชนก็มีความรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

ตนอยากจะพูดตรงไปตรงมาว่าอยากให้เป็นคนสุดท้าย หรือผู้ที่ถูกเรียกไปสอบสวนและเสียชีวิตน่าจะเป็นคนสุดท้าย ฝ่ายผู้เกี่ยวข้องดูแลรับผิดชอบฝ่ายกฎหมายและความมั่นคงต้องตระหนักถึงสิทธิของประชาชน เป็นสิ่งที่เราต้องคำนึงและก็ต้องหวงแหนเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่คนเดียว สองคนหรือมากกว่านั้นเพราะชีวิตเป็นสิ่งที่หาไม่ได้ และประมาณค่าไม่ได้

ฉะนั้นการเสียชีวิตของคนคนนึง ฝ่ายที่ดูแลรับผิดชอบต้องตระหนักว่าสาเหตุเป็นอะไร และต้องหาผู้รับผิดชอบให้ได้ เพราะตอนที่ไปรับตัวเขามาก็ไม่ได้ให้มีผู้ติดตามมาด้วย แล้วไปสอบสวนในที่ลับของทางราชการ เขาไม่ได้ติดตามมาด้วย เขารู้เมื่อว่าเจ้าหน้าที่ส่งตัวเมื่อถึงโรงพยาบาลแล้ว เพราะฉะนั้นในช่วงนั้นจะไม่มีใครทราบเลย ซึ่งจะต้องเป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ในการดูแล

ฉะนั้นตนอยากจะพูดว่าการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ ขอให้เป็นกรณีศพสุดท้าย ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ควรจะมีต่อไป และก็อยากให้พิจารณาเหตุจูงใจและที่มาที่ไปของกรณีนี้ว่า นายอับดุลเลาะ ถูกสงสัยว่าเป็นผู้ก่อเหตุคนหนึ่งในเหตุการณ์ที่ผ่านมา แล้วก็นำมาสอบโดยไม่ได้ใช้กฎหมายปกติ คือไม่ได้ขอหมายศาลอย่างกฎหมายอาญาทั่วไป

เพราะใช้กฎหมายความมั่นคงมาสอบภายในระยะเวลา ซึ่งเป็นเรื่องที่เราควรพิจารณาได้แล้วเพราะใช้มาหลายปี มีผู้เสียหายหลายกรณีและหลายราย เขาก็ไปร้องในที่ต่างๆ เยอะแยะมากมาย กรณีนี้อย่าให้เขาตายฟรีควรจะได้รับการพิจารณา อันนี้คือความรู้สึกของฝ่ายการเมือง

ส่วนฝ่ายค้านและส.ส.ใน 3 จังหวัดรวมทั้งฝ่ายรัฐบาลด้วย เรากำลังเสนอกฎหมายให้รัฐบาลพิจารณา ทบทวนการใช้กฎหมายพิเศษทั้ง 3 ฉบับในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าไม่จำเป็นควรจะยกเลิก แล้วก็ใช้กฎหมายความมั่นคง ฉบับเดียวก็พอ ถ้าไม่มีความจำเป็นในกฎหมายความมั่นคงฉบับเดียวก็ควรใช้กฎหมายอาญาก็ได้เพราะมันลงโทษหนัก

ถ้ากรณีคดีอาญา กรณีวางระเบิด หรืออะไรต่ออะไร ก็มีโทษถึงประหารชีวิตอยู่แล้ว นี่ใช้ตั้ง 3 ฉบับไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึก พ.ร.บ.ฉุกเฉิน เบาที่สุดคือกฎหมายความมั่นคง พื้นที่อื่นๆ ก็ไม่มีใช้ เอาทั้ง 3 ฉบับมาใช้พร้อมๆ กัน ซึ่งตนรู้สึกว่าหนักต่อภาระของพี่น้องประชาชน

อาจจะพูดว่าถ้าคนดีไม่ต้องไปกลัว แต่เราไม่สามารถจะพิสูจน์ได้ว่าคนไหนดีหรือคนไหนไม่ดี ศาลเท่านั้นที่จะพิสูจน์ได้ว่าเขามีความผิดหรือไม่ ก็คงจะเป็นเรื่องของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่แต่กรณีนี้ผู้บริสุทธิ์ยังต้องเข้า ICU จนต้องมาเสียชีวิต

ไม่สามารถจะชี้แจงอะไรใดๆ ได้ มองว่าเจ้าหน้าที่ที่รับตัวเข้ามาต้องมีความรับผิดชอบอย่างเต็มตัว ไม่อาจปฏิเสธได้ บอกว่าถูกสอบแล้วก็เครียดช็อกเองอะไรก็แล้วแต่ก็ไม่พ้นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ ส่วนญาติก็ไม่ เชื่อว่า เกิดอุบัติเหตุด้วยตัวเองเพราะว่านายอับดุลเลาะมีร่างกายแข็งแรง ตอนที่เจ้าหน้าที่ไปรับตัวมานายอับดุลเลาะห์เพิ่งกลับจากการทำสวน

กรณีที่บอกว่าไม่มีบาดแผลคงไม่ได้ถูกทรมานหรือทำอะไรที่ผิดกฎหมาย ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้เพราะการกระทำบางอย่างก็อาจจะไม่มีบาดแผลได้

 

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน