วันที่ 4 เม.ย. ที่ห้องประชุม อบต.จรัส อ.บัวเชด จ.สุรินทร์ พล.ท.ประสพชัย กงบุราณ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน “วันทุ่นระเบิดสากล” ซึ่งตรงกับวันที่ 4 เม.ย.ของทุกปี จัดขึ้นโดยศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และสมาคมผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิดพลเรือนไทย โดยมีนางเอ็นซีลา ทีนา ชิสชิบา ซินเจลา เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรแซมเบีย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา นายปีเตอร์ เฮย์มอนด์ อัคราชทูตที่ปรึกษาสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน ว่าประเทศไทยได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ในการกำจัดทุ่นระเบิด เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวชายแดนต่อไป

โดยภายในงานมีกิจกรรมต่างมากมาย อาทิ การสาธิตปฏิบัติการกวาดล้างทุ่นระเบิดและการให้ความรู้เรื่องทุ่นระเบิด, แจกรางวัลการประกวดวาดภาพของเด็กนักเรียนในพื้นที่ ต.จรัส, มอบถุงยังชีพให้กับผู้พิการจากทุ่นระเบิด ที่อาศัยอยู่ใกล้โครงการ ICEA projeoject financially supported by the JAPAN และพิธีเปิดโครงการ ICEA projeoject ที่สนับสนุนโดยรับบาลญี่ปุ่น โดยมีประชาชน เยาวชน นักเรียน และผู้พิการจากทุ่นระเบิดในพื้นที่ให้ความสนใจร่วมงานจำนวนมาก

จากนั้นทั้งหมดได้เดินทางไปชมกิจกรรมทำลายทุ่นระเบิดหลายชนิด จำนวน 2,971 ทุ่น ที่บริเวณป่าชายแดนไทย-กัมพูชา บ้านจรัส ต.จรัส อ.บัวเชด จ.สุรินทร์ ด้วยการจุดชนวนให้ระเบิดพร้อมกันทีเดียว และกันพื้นที่ให้สื่อมวลชนและประชาชนผู้ที่เข้าชมให้อยู่ห่างจากจุดทำลายทุ่นระเบิดมากกว่า 400 เมตร เพื่อความปลอดภัย ท่ามกลางเสียงดังสนั่นหวั่นไหวของลูกระเบิดหลายชนิดเกือบ 3 พันลูกดังกล่าว สำหรับการทำลายทุ่นระเบิดดังกล่าวเป็นการทำลายครั้งที่ 2 สามารถคืนพื้นที่ปลอดภัยให้แก่ชุมชนท้องถิ่นแห่งนี้ จำนวน 326,866 ตร.ม. โดยครั้งแรกทำลายทุ่นระเบิดไปจำนวน 2,729 ทุ่น คืนพื้นที่ปลอดภัยให้แก่ชุมชนท้องถิ่นแห่งนี้ จำนวน 2,445,513 ตร.ม. ซึ่งดำเนินการไปแล้วระหว่างเดือนเมษายน 2557 ถึงตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา

นายอมรชัย ศิริไสย์ นายกสมาคมผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิดพลเรือนไทย เปิดเผยว่า สมาคมผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิดพลเรือนไทย ก่อตั้งโดยกลุ่มคนไทยกว่า 30 คน ที่เคยทำงานร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่ชาติ (ศทช.ศบท.) ภายใต้กองบัญชาการกองทัพไทยมากว่า 16 ปี มีวัตถุประสงค์หลักคือช่วยหน่วยงานราชการเก็บกู้ทุ่นระเบิดที่หลงเหลืออยู่ตามชายแดนให้ประชาชนในท้องถิ่นได้ใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย และช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดรวมทั้งกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากทุ่นระเบิด

โดยสมาคมได้จดทะเบียนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 มี.ค.53 ทุกคนมีความชำนาญการ มีประสบการณ์ด้านการกวาดล้างทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม สมาชิกสมาคมฯหลายคนเป็นคนในท้องถิ่น เคยเห็นความโหดร้ายของทุ่นระเบิดที่เกิดกับญาติพี่น้อง หรือแม้แต่ตัวเองจึงมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะกำจัดวัตถุอันตรายนี้ออกไปให้สิ้นซากจากแผ่นดินไทย เพื่อความปลอดภัยของทุกคน ซึ่งเป็นเป้าหมายและวัตถุประสงค์หลักของสมาคมฯ โดยตลอด 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้ช่วยเหลือบริจาคเงินให้แก่สมาคมฯ ผ่านกองทุน JAPAN-ASEAN integration Fund (JAIF) แล้ว 2 ครั้ง เพื่อดำเนินการกวาดล้างทุ่นระเบิดในพื้นที่ของชุมชนที่ติดกับชายแดนกัมพูชาบริเวณตำบลจรัส ครั้งแรกจำนวน 473,055.96 เหรียญสหรัฐอเมริกา และครั้งที่ 2 ที่กำลังดำเนินการอยู่ จำนวน 806,275.77 เหรียญสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป้าหมายหลักคือการกำจัดทุ่นระเบิดออกไปจากพื้นที่เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อประชาชนเพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวชายแดน และสมาคมฯจะเผยแพร่ประสบการณ์ความรู้ที่ได้ให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีปัญหาคล้ายกัน อันได้แก่ สปป.ลาว, กัมพูชา, เวียดนามและเมียนมาร์

พล.ท.ประสพชัย กล่าวว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และมีการขอต่อระยะเวลา 2 ครั้ง 10 ปีแรกตั้งแต่ปี 42-52 ที่อนุสัญญาได้กำหนดไว้ว่าให้ หมดภายใน 10 ปี แต่ทีนี้ในบรรดาประเทศสมาชิก 60 กว่าประเทศ ยังมีอีกกว่า 30 ประเทศ ที่ยังเก็บกู้ไม่เสร็จก็ร้องขอกันไป ก็ถือว่าประเทศไทยมีพื้นที่ที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดค่อนข้างเยอะ ถึง 2,577 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเราก็ได้อธิบายให้เขาได้เข้าใจและรับทราบถึงปัญหาของเรา เพราะฉะนั้นการขอต่อสัญญาของเราในครั้งที่ 2 เราจะขอต่อสัญญาอีกครั้งหนึ่ง คือรอบ 2 ตั้งแต่ปี 52 – 61 รอบที่ 2 ที่เราจะขอคือปี 61–66 เป็นเวลา 5 ปี ตามอนุสัญญาได้ประกาศครั้งสุดท้ายว่า โลกจะต้องหมดสนามทุ่นระเบิดในปี 2025 หรือ พ.ศ.2568 ช่วงเวลาที่เหลือเรามั่นใจว่าเราสามารถที่จะกวาดล้างทุ่นระเบิดในพื้นที่ที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดในประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น 420 ตารางกิโลเมตร ให้หมดสิ้นไปภายใน 5 ปีนี้ได้แน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน