พช.จับมือร.ร.นวดแผนโบราณวัดโพธิ์ สร้างงาน-อาชีพ ยกระดับชุมชนโอท็อป สร้างความเข้มแข็งให้สตรีไทย มีอาชีพทางเลือกในชุมชนมีอาชีพ มีรายได้

พช. / เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 8 พ.ย. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมการนวดแผนไทย ในชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ร่วมกับนายปรีดา ตั้งตรงจิตร ผู้อำนวยการโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) โดยมีพระราชรัตนสุนทร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) นายโชคชัย แก้วป่อง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน คณะผู้บริหารโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการลงนามใน MOU ระหว่างกรมการพัฒนาชุมชนกับโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) ในวันนี้นั้น เพราะกรมการพัฒนาชุมชนได้รับมอบนโยบายจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย (มท.1) ให้สร้างความเข้มแข็งให้สตรีไทย ให้มีอาชีพมีทางเลือก สร้างความเข้มแข็งให้สตรีไทยในชุมชนได้มีอาชีพ มีรายได้ สามารถทำงานอยู่ในหมู่บ้าน ไม่ต้องไปทำงานรับจ้างในกรุงเทพมหานครหรือเมืองท่องเที่ยว

ดังนั้น การมีความรู้ความสามารถในวิชาหัตถศาสตร์ หรือนวดแผนไทย ก็เป็นทางเลือกที่ดี สามารถใช้ทำอาชีพส่วนตัวอยู่กับบ้าน หรือสถานพยาบาลแผนไทยทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งยังมีความต้องการอยู่มาก หรืออย่างน้อยที่สุดหากผ่านการฝึกอบรมตามความร่วมมือระหว่างโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) กับกรมการพัฒนาชุมชน ก็จะสามารถใช้วิชาความรู้นี้ มาดูแลสุขภาพ ของตนเองหรือคนในครอบครัวได้เป็นอย่างดี

ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่กรมการพัฒนาชุมชนได้รับความเมตตาช่วยเหลือจากท่านเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ซึ่งถือได้ว่าเป็นแหล่งรวมวิทยาการทางการแพทย์ และการนวดของไทย มีการรวบรวมตำรายา การนวดแบบฤาษีดัดตน ซึ่งบันทึกและสืบสานความรู้ตามการจารึกไว้ตามศาลารายของวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) เป็นต้นตำรับเรื่องนวดแผนไทยที่เก่าแก่มีชื่อเสียงมากที่สุดของไทย มานานกว่า 200 ปี

จนทำให้ได้รับการยกย่องว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ จึงทำให้มั่นใจได้ว่า ท่านที่ผ่านการฝึกอบรมจากโครงการนี้ จะมีความรู้ที่ถูกต้องสามารถนำไปใช้ได้อย่างดีเยี่ยม และยังเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดรายได้กับชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างทั่วถึง กระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศให้มีความเข้มแข็ง สร้างและพัฒนาบุคลากร ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องในชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ให้มีขีดความสามารถในการคิดเชิงสร้างสรรค์ และนำมาต่อยอดการบริหารจัดการชุมชนได้อย่างเหมาะสมผ่านภูมิปัญญาการนวดแผนโบราณ

โดยขอบเขตของความร่วมมือจะเป็นการสนับสนุน ส่งเสริมศักยภาพของชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ผ่านภูมิปัญญาการนวดแผนโบราณ อันหมายถึง การจัดทำหลักสูตร อาทิ มีการจัดทำหลักสูตรการนวดแผนโบราณ จะประกอบไปด้วยหลักสูตรระยะยาว เช่น หลักสูตรสปาผิวกาย หลักสูตรวิชาชีพนวดไทยเพื่อสุขภาพ หลักสูตรระยะสั้น เช่น หลักสูตร นวดน้ำมัน หลักสูตรนวดฝ่าเท้า หลักสูตรนวดประคบและอบสมุนไพร หลักสูตรฤาษีดัดตน หลักสูตรนวดหน้า เป็นต้น

มีการฝึกอบรมให้ความรู้ การจัดนิทรรศการแสดงสินค้าและผลงาน ตลอดจนร่วมกันพัฒนา แลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ และพัฒนาฐานข้อมูล การนวดแผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) ที่จะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมและยกระดับชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี

อีกทั้งร่วมกันประชาสัมพันธ์การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ยกระดับการท่องเที่ยวตามกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ผ่านภูมิปัญญาการนวดแผนโบราณ ให้เป็นที่รู้จัก ผ่านช่องทางและเครือข่ายความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย โดยร่วมกันส่งเสริมการตลาดและกระตุ้นการขายสินค้าและบริการ และการเข้าไปจัดกิจกรรมการนวดแผนโบราณ ในพื้นที่ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ทั้งในเชิงพื้นที่ ที่เน้นสร้างความยั่งยืน และมุ่งให้ชุมชนพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

โดยการพัฒนาให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการนวดแผนโบราณ เชิงสินค้า OTOP และผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่เน้นคุณภาพ มาตรฐาน และความคิดสร้างสรรค์บนฐานอัตลักษณ์ชุมชน ให้บุคลากรมีองค์ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรและการนวดแผนโบราณ และเชิงบริการ ที่จะร่วมกันสร้างสรรค์ ส่งเสริม แลกเปลี่ยนความรู้ระดับชุมชน ระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ ตลอดจนพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือการนวดแผนโบราณ

ทางพระราชรัตนสุนทร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ยังกล่าวถึงโครงการที่เคยทำร่วมกับวัดใน อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ มีโครงการสอนลูกเณร ที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) มีใบประกาศแพทย์แผนไทย และต่อไปลูกเณรประกอบอาชีพได้ โครงการโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ มีผู้ปกครองมาส่งเด็กๆ จึงนำผู้ปกครองมาเรียนครบชั่วโมงก็สำเร็จ

อาตมาขอขอบคุณ อนุโมทนา อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และทีมงานกรมการพัฒนาชุมชน ที่ได้สร้างโอกาสอันดีในวันนี้ เพื่อสานต่อสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ให้แก่ประชาชน ประเทศชาติ และสุดท้ายทางวัด มีความยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งวัดโพธิ์เป็นวัดกษัตริย์สร้างไม่โรยร้างรุ่งเรืองดังเมืองสวรรค์ และขออนุโมทนาท่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และทีมงานกรมการพัฒนาชุมชนทุกท่าน ซึ่งนอกจากตัวท่านจะได้รับประโยชน์แล้ว จะยังประโยชน์ไปถึงประชาชน ประเทศชาติ โดยทางวัดโพธิ์ มีความยินดียิ่งในการให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

ด้านนายปรีดา กล่าวด้วยว่า การแพทย์แผนไทย และการนวดไทย ตำรับวัดโพธิ์ ของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) มีความเป็นมาตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ จวบรัชสมัย รัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมาตั้งที่กรุงเทพฯ ทรงให้ปฏิสังขรณ์ “วัดโพธาราม” หรือ “วัดโพธิ์” ขึ้นเป็นพระอารามหลวง และได้รวบรวม ตำรายา ฤาษีดัดตน ตำราการนวด

ต่อมารัชกาลที่ 3 รวบรวมตำราการนวด ตำราการแพทย์ แล้วให้จารึกไว้ในวัดโพธิ์ นำมาจารึก และตั้งวิทยาลัยการแพทย์แผนโบราณเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้ศึกษาและสามารถนำไปใช้รักษาตนเองยามเจ็บป่วยได้ในพ.ศ. 2498 ท่านเจ้าคุณพระธรรมวโรดม (ปุ่น ปุณณสิริ) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 จัดตั้งสมาคมแพทย์แผนโบราณและโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ(วัดโพธิ์) ขึ้น เป็นโรงเรียนแห่งแรกที่มีการสอนวิชาแพทย์แผนโบราณครบทั้ง 4 สาขา ตามกฎหมาย ได้แก่ วิชาเวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย ผดุงครรภ์ไทย และวิชาการนวดแผนโบราณ

จนถึงปัจจุบันกว่า 55 ปีที่เริ่มต้นจากโรงเรียนเล็กๆภายในวัดปัจจุบันโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ(วัดโพธิ์) พัฒนาองค์ความรู้ ตลอดจนปรับปรุงมาตรฐานการเรียนการสอน จนเป็นที่เชื่อถือและยอมรับทั้งในและต่างประเทศ

“ต้องขอขอบคุณท่านเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (พระธรรมรัตนากร) และท่านผู้อำนวยการโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) เป็นอย่างสูง โดยกรมการพัฒนาชุมชนจะขับเคลื่อนการบูรณาการความร่วมมือครั้งนี้ ไปสู่การสร้างสรรค์องค์ความรู้สำหรับการพัฒนาและประชาสัมพันธ์ชุมชนท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว อีกทั้งได้รับการยกระดับมาตรฐานด้วยนวัตกรรม เน้นสร้างความยั่งยืน และมุ่งให้ชุมชนพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ให้แก่พี่น้องประชาชนในชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ได้อย่างแท้จริง

ซึ่งโครงการนี้ เปิดรับสมัครทั้งหญิงและชายโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ และเมื่อผ่านการฝึกอบรม จะได้รับวุฒิบัตรที่กระทรวงสาธารณสุขให้การรับรอง ใช้เป็นเอกสารประกอบการทำงานได้อย่างถูกต้อง โดยสามารถสมัครได้ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ ทุกอำเภอ สำนักงานพัฒนาการชุมชนจังหวัดทุกจังหวัดและที่กรมการพัฒนาชุมชน และหากพื้นที่จังหวัดใด อำเภอใด มีผู้สมัครเรียนตั้งแต่ 20 คน ขึ้นไป ทางคณะอาจารย์จะเดินทางไปเปิดการเรียนการสอนให้ถึงที่ จึงขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนที่สนใจ มาร่วมสมัครเรียนในโครงการนี้” อธิบดีพช. กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน