กะเหรี่ยงบางกลอย ขอกลับ“ใจแผ่นดิน” เผยชีวิตบนป่าใหญ่ แค่ทำไร่หมุนเวียนก็มีสุข

กะเหรี่ยงบางกลอย / วันที่ 29 พ.ย. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปีโครงการศิลปะชุมชน โดยมีศิลปะการแสดงสด การออกร้านค้าชุมชน และเวทีเสวนาเรื่อง “เสียงจากใจแผ่นดิน” และ “แม่น้ำหายไป”

ในเวทีเสวนา “เสียงจากใจแผ่นดิน” ชาวบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ร่วมกันสะท้อนวิถีชีวิตที่เคยอาศัยอยู่ในป่าใหญ่ใจแผ่นดินว่า ตอนอยู่ที่หมู่บ้านบางกลอยบนในใจแผ่นดิน เวลาทำไร่หมุนเวียนมีความสุขมากเพราะมีทุกอย่างให้เก็บกิน แต่ความสุขหายไปเมื่อมาอยู่บข้างล่างเพราะต้องใช้เงินมากขึ้น

แม้บางคนสามารถทำไร่ปลูกข้าวเหมือนข้างบนแต่ก็ต้องออกไปรับจ้างหาเงิน การอยู่ข้างบนสะดวกกว่าเพราะทำอะไรก็ได้ แต่พอมาอยู่ข้างล่างรู้สึกเครียด และการอยู่บ้านเกิดของเรามีความสุขมากกว่าข้างล่าง พื้นที่ล่มเย็นไม่ต้องใช้เงินก็อยู่ได้ แต่มาอยู่ข้างล่างไม่มีเงินอยู่ไม่ได้เพราะปลูกข้าวไม่เพียงพอ ทำให้เดือดร้อนมากขึ้น

“ตอนอยู่บ้านบางกลอยบน พอถึงหน้าเกี่ยวข้าวเราสนุกเฮฮามาก เพราะไม่ต้องกังวลใดๆ แต่พออยู่ด้านล่างต้องกังวลอยู่ตลอดเวลา ไหนข้าวก็ไม่เพียงพอ ไหนจะไม่มีเงินต้องไปยืมเป็นหนี้คนอื่น อยู่ข้างล่างเราไม่สบายกันบ่อยๆ อยู่บ้างบนเราทำเองทุกอย่าง ไม่มีสารเคมี นึกถึงย้อนอดีตก็อยากกลับไปอยู่เหมือนเดิม เราไม่เข้าใจว่าทำไมพื้นที่ที่เราอยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ

ต้องขออนุญาตเพื่อกลับเข้าไปอยู่ แต่ทุกวันนี้ต้องซื้ออย่างเดียว ถ้าไม่ซื้อก็ไม่มีกิน ตอนเราอยู่ป่าเราใช้ทรัพยากรธรรมชาติ แต่เราเอาไว้กินใช้แต่ไม่ได้เอามาขาย ผู้เฒ่าผู้แก่เคยพูดว่าไม่ต้องแสวงหามากมายแต่ให้พอใจกับสิ่งที่มีอยู่”ชาวบ้านบางกลอย กล่าว

ชาวบ้านบางกลอย กล่าวว่า คิดถึงทุกอย่างที่อยู่ในไร่หมุนเวียน แต่ทุกวันนี้ต้องซื้อกินทุกอย่าง ความเชื่อของเราเมื่ออยู่ข้างบนคือในพื้นที่ทำพิธีกรรมห้ามยิงสัตว์ บริเวณนั้นมีต้นไทร เราต้องเก็บรักษาไว้ ถ้าคนไม่เชื่อในความศักดิ์ก็จะหาต้นไม้นี้ไม่เจอ คนกะเหรี่ยงห้ามทำร้ายสัตว์ใหญ่ ต้องเก็บรักษาชีวิตไว้ เช่นเดียวกับจระเข้เราถือว่าเป็นสัตว์ที่ศักดิ์สิทธิ ทุกวันนี้เราอยากให้แก้ไขในสิทธิที่ดินทำกิน เพราะตอนนี้ปลูกข้าวได้บางปีก็พอกิน บางปีก็ไม่พอกินเพราะเขาให้ทำในพื้นที่เดิมๆซ้ำๆดินก็เสื่อมโทรม

น.ส.พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือมึนอ ภรรยานายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ กล่าว่า สมัยเด็กเคยอยู่ในป่าแก่งกระจานก่อนถูกย้ายลงมาอยู่ข้างล่าง ซึ่งในตอนนั้นไม่มีเงินก็อยู่ได้ เราอยู่แบบมีตความสุขมากๆ กะปิก็ทำเอง เสื้อผ้าก็เอาฝ้ายมาปั่นทอเอง มีผลไม้ป่ากิน เราไม่ได้เอาไปขาย จนวันที่เขาให้เราย้ายลงมา ถ้าไม่ลงมากเขาบอกว่าจะเอาเครื่องบินเข้าไปรับ เมื่อมาอยู่ด้านล่างทุกคนต้องรับจ้าง สมัยนั้นเด็กได้วันละ 30 บาท ผู้ใหญ่ได้ 80 บาท ทุกอย่างต้องใช้เงินถึงจะมีชีวิตรอด อยู่ข้างล่างต้องกังวลทุกสิ่งทุกอย่าง

ตอนเด็กพ่อแม่ทำแต่ไร่ซาก ไม่ได้เปิดป่าเพิ่ม และมีต้นไม้ใหญ่ เช่น ตะเคียนทอง กะเหรี่ยงถือและไม่ตัด ต้นไม้บางต้นที่ผูกสะดือเด็กซึ่งเป็นต้นไม้ประจำตัว ห้ามตัดห้ามโค่นและรักษาเอาไว้ ตอนปู่คออี้ยังมีชีวิตอยู่ข้างบน เราเดินทางไปหาปีละ 1 ครั้งพร้อมๆกับญาติๆ ปู่ห้ามไม่ให้ยิงสัตว์รอบๆบ้านปู่ ดิฉันคิดว่าปู่เหมือนเจ้าหน้าที่อนุรักษ์คนหนึ่ง ทั้งค่าง กระรอก อยู่รอบบ้าน แถมมีรอยกระทิง อยู่ใกล้ๆบ้านปู่ด้วย”น.ส.พิณนภา กล่าว

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า หมู่บ้านใจแผ่นดินมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยคนจากอินเดียที่เดินทางมาอยุธยาจะมาขึ้นบกที่มะริดและล่องทวนแม่น้ำตะนาวศรีมาโผล่แถวใจแผ่นดิน และล่องเรือมาทางแม่น้ำเพชรบุรีไปจนถึงอยุธยา

โดยเมื่อปี 2455 ซึ่งทำแผนที่ทหารครั้งแรกก็ระบุบ้านใจแผ่นดินอยู่แล้ว เมื่อเขาอยู่มาเนิ่นนานจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่นั่น มีทั้งเสือ จระเข้ อยู่ร่วมกับชาวบ้านได้ เขาจัดระบบนิเวศกันได้ จนกระทั่งมีเจ้าหน้าที่อุทยานฯไปเอาไข่จระเข้ออกมาจนใกล้สูญพันธุ์

ดังนั้นป่าแก่งกระจานจึงมีความสมบูรณ์มาก แต่พอปี 2553-2554 กลับไปเผาบ้านและยุ้งข้าวชาวบ้านและไล่ชาวบ้านออกมา อย่างน้อย 98 หลัง เราเอาคนหลักร้อยออกจากป่า คนนับร้อยหายไปทำให้ป่าแก่งกระจานเสียหายและส่งผลกระทบต่อเรื่องอื่น ดังนั้นสิ่งที่รัฐควรทำคือให้เขากลับไปอยู่เหมือนเดิม

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่อ้างว่าทำตามกฎหมาย ซึ่งตนไม่ทราบว่าเอากฎหมายอะไรมาให้ชาวบ้านย้ายมาอยู่ในป่าแห่งใหม่ ทุกวันนี้ที่บ้านบางกลอยล่างอยู่อย่างผิดกฎหมาย ทำไมถึงไม่ให้เขากลับไปอยู่ที่เดิมเพราะเขารักษาป่ามาเป็นอย่างดี

การศึกษาทั่วโลกพบว่าคนที่รักษาป่าและรักษาโลกร้อนได้ดีสุดคือคนพื้นเมือง เช่น ที่อเมริกาใต้และอเมริกากลาง มีชาวอินคาอาศัยอยู่บนยอดเขานับแสนคนนับพันๆปี เขาทำไร่หมุนเวียนอยู่ตีนเขาคล้ายๆชาวกะเหรี่ยง แต่พอคนผิวขาวเข้ามาก็ต้องสูญพไปนายสุรพงษ์ กล่าว

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า บ้านเมืองนี้ปัญหาใหญ่ที่สุดคือเรื่องที่ดินทำมาหากิน เพราะไม่ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ไหน ปัญหาใหญ่คือเคยมีที่ทำกินซึ่งธรรมชาติมอบไว้ให้ แต่วันหนึ่งกฎหมายของบ้านเมืองกลับไปแย่งที่ทำกินของเขา

โดยคนที่เข้าไปจัดการป่าคือคนที่ไม่รู้จักป่า เพียงแต่เรียนมาเท่านั้นเพราะไม่รู้ว่าป่าจริงๆนั้นไม่ได้มีแต่ต้นไม้และสัตว์ป่า แต่มีคนด้วยที่เป็นส่วนหนึ่ง โดยรัฐบาลไม่เคยเข้าใจเรื่องนี้ ปัญหาไม่ได้เกิดจากผู้มีอิทธิพลไปแย่งที่ดินของชาวบ้านแต่เกิดจากรัฐไปแย่งโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ จึงต้องมีการจัดการป่ากันใหม่โดยเอาคนที่รู้จักป่าจริงๆเข้าไปจัดการ

ขณะที่ นายณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า วิถีของเราคือทำไร่หมุนเวียน แต่นักการเมืองในสภายังเข้าใจว่าไร่หมุนเวียนคืออะไร และคิดว่าเป็นไร่เลื่อนลอย ที่ผ่านมาระบบการจัดการป่าไม้ของไทยล้มเหลว แสดงว่ากระบวนการในการสร้างป่าบกพร่อง ควรเอาระบบที่ผ่านมาวางบนโต๊ะแล้วสังคายนากันใหม่ และมีการออกกฎติกาที่ชาวบ้านมีส่วนร่วม ไม่ใช่ออกจากส่วนกลางหรือคนที่อยู่แต่ในห้องแอร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน