วันที่ 1 มิ.ย. ที่ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย น.ส.สุทธิดา แสงสุมาตร หรือนุ๊ก อายุ 23 ปี ผู้ได้รับความเสียหายจากกรณีการตรวจเชื้อเอชไอวีผิดพลาดตั้งแต่ 4 ขวบ เดินทางมาพร้อมนายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ทนายความ เพื่อตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีอีกครั้ง ซึ่งระหว่างเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจนั้น น.ส.สุทธิดาถึงกับร่ำไห้กับการลุ้นผลตรวจในครั้งนี้ เพราะจะเป็นการพิสูจน์อย่างชัดเจนว่ามีการติดเชื้อเอชไอวีจริงหรือไม่ จากนั้นจึงแถลงข่าวผลการตรวจเลือดร่วมกับศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย และนพ.สมบัติ แทนประเสริฐสุข ผู้แทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ กล่าวว่า การตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีครั้งนี้ ใช้ทั้งหมด 5 วิธีในตรวจ คือ 1.Rapid Test เป็นการตรวจแบบรวดเร็ว ใช้เวลาประมาณ 20-30 นาทีก็ทราบผล 2.การตรวจหาแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มเคยต่อเชื้อ ใช้เวลาประมาณ 40 นาทีจึงทราบผล 3.ตรวจหาสายพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวีหรือ NAT 4.การตรวจระดับลึกแบบ RNA และ 5.การตรวจระดับลึกถึง DNA ซึ่ง 3 วิธีหลังจะทราบผลในอีกประมาณ 2-3 วัน ซึ่งเมื่อทราบผลตรวจทั้งหมดแล้วก็จะประสานส่งข้อมูลให้กับผู้เสียหายและทางสธ. ซึ่งจะหรือกันในวันที่ 5 มิ.ย.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการตรวจหาเชื้อเอชไอวีด้วยวิธี Rapid Test และตรวจหาแอนติบอดี ผลออกมาเป็นลบหรือเนกาทีฟ คือไม่พบเชื้อเอชไอวี

น.ส.สุทธิดา กล่าวว่า ตนจำความไม่ได้ว่า มีการติดเชื้อตั้งแต่เมื่อไร และมีการตรวจหาการติดเชื้อตั้งแต่ตอนไหน เพราะยังเด็กอยู่ แต่เท่าที่จำได้คือเมื่อปี 2545 หรืออายุประมาณ 8 ขวบก็ทราบว่าตนเองมีเชื้อเอชไอวีอยู่แล้ว ส่วนการรับประทานยาต้านไวรัสนั้น ตนก็จำไม่ได้อีกว่าได้รับยามาทานครั้งแรกตั้งแต่เมื่อไร แต่จำได้ว่าช่วงประถมศึกษาก็มีการกินยาแล้ว โดยกินทุกวันเช้าเย็นมาตลอด ซึ่งนับตั้งแต่ทราบว่าติดเชื้อเอชไอวี การใช้ชีวิตที่ผ่านมาก็ทุกข์ทรมานอย่างมาก เพราะถูกสังคมตีตรา ถูกเพื่อนๆ และญาติรังเกียจ ความฝันที่อยากเป็นแพทย์ก็ยุติลง เพราะไม่อยากไปเรียน เนื่องจากถูกกดดันอย่างหนัก จึงต้องแกล้งป่วยเพื่อไม่ไปเรียน นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากการรับประทานยาต้านไวรัส มีอาการผมร่วงรุนแรง

น.ส.สุทธิดา กล่าวว่า ส่วนตอนที่ทราบว่าตนไม่มีเชื้อเอชไอวีในร่างกายคือ ตอนตั้งครรภ์ครั้งแรกเมื่อปี 2555 โดยมีการตรวจถึง 2 รอบกับ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ ผลออกมาเป็นลบคือไม่มีเชื้อ ซึ่งแพทย์ระบุว่าหากจะให้มั่นใจให้มาตรวจกับสภากาชาดไทย ซึ่งเมื่อมาตรวจแล้วก็พบว่าไม่มีเชื้อเช่นกัน จึงเลิกรับประทานยาต้านไวรัสมาตั้งแต่ปีดังกล่าว ต่อมาเมื่อปี 2558 ได้ตั้งครรภ์ลูกคนที่สอง เมื่อตรวจอีกก็ไม่พบเชื้อเช่นกัน และเมื่อจะร้องเรียน จึงได้มีการมาตรวจอีกครั้งเมื่อวันที่ 23 พ.ค.2560 ที่สภากาชาดไทยก็ไม่พบเชื้อเช่นกัน ส่วนการมาตรวจในวันนี้ก็เพื่อให้รู้แน่ชัดเลยว่า ตนไม่มีเชื้อเอชไอวีจริงๆ และก็รู้สึกดีใจที่ผลออกมาว่าตนไม่มีเชื้อ ซึ่งตรงนี้จะช่วยให้ลูกทั้งสองของตนได้มีที่ยืนในสังคม ส่วนตอนนี้จะขอความเป็นธรรมก่อนว่าไม่ได้เป็นผู้ป่วยที่มีเชื้อเอชไอวี แต่กลับต้องได้รับผลกระทบจากการวินิจฉัยดังกล่าว

นายสงกานต์ กล่าวว่า ในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ ที่จะมีการเข้าไปหารือกับทางสธ. จะเรียกร้องให้ สธ.ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงกับแพทย์และบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกรณีประมาทเลินเล่อ เพื่อให้เป็นคดีตัวอย่าง และให้โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศมีความระมัดระวัง และไม่ประมาท โดยขอให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ตรวจสอบเพื่อความยุติธรรม อย่างไรก็ตาม เรื่องข้อมูลเวชระเบียนก่อนปี 2550 ว่ามีการตรวจการติดเชื้อเมื่อไร จ่ายยาครั้งแรกเมื่อใดนั้น รพ.ที่ตรวจรักษาใน จ.ร้อยเอ็ดระบุว่า ทำลายไปแล้ว แต่ล่าสุดเพิ่งมาบอกว่าหาเอกสารเจอแล้ว ซึ่งทั้งหมดจะนำมาหารือกันในวันที่ 5 มิ.ย.นี้

ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ตนคงตอบไม่ได้ว่าการตรวจเชื้อในอดีตมีโอกาสผิดพลาดหรือไม่ เพราะไม่ทราบว่าตอนตรวจครั้งแรกเป็นอย่างไร หากการตรวจครั้งนี้ออกมาว่าไม่มีเชื้อก็คือไม่มีเชื้อ ก็จะประกาศกับสังคมได้เลยว่าไม่มีการติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า การตรวจหาเชื้อเอชไอวีระหว่างในอดีตและปัจจุบันมีความแตกต่างกัน โดยปัจจุบันการตรวจก็จะมีความไวกว่า อย่างไรก็ตาม การตรวจเชื้อมีโอกาสเกิดผลบวกลวงหรือผลลบลวงได้ ซึ่งโอกาสเกิดขึ้น 1 ในพัน ดังนั้น แม้ผลจะออกมาเป็นบวกก็ต้องมีการตรวจซ้ำ แต่ไม่ได้หมายความว่าตรวจซ้ำแล้วจะไม่มีโอกาสผิดพลาดเลย แต่โอกาสก็เกิดขึ้นเพียง 1 ในล้านเท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน