“ประธานสมาพันธ์แชร์ลูกโซ่ฯ” หอบเอกสารผู้เสียหาย “แชร์คอร์สสัมนา” 8 ลัง มามอบให้ “ดีเอสไอ” รับเป็นคดีพิเศษ เผยมีเหยื่อกว่า 40,000 คนทั่วประเทศ มูลค่าเสียหายกว่า 2,000 ล้าน เผยกำลังรวบรวมรายชื่อให้ครบ 5 แสนคน เพื่อเสนอนายกฯแก้กฎหมายเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ โดยเสนอเพิ่มโทษ-เยียวยาเหยื่อใน 3 ปี ขณะนี้รวบรวมชื่อได้ประมาณ 380,000 รายแล้ว

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย นำกลุ่มผู้เสียหายที่ถูกหลอกให้ร่วมลงทุนซื้อแพคเกจคอร์สสัมมนาเพื่อการเรียนรู้และการลงทุน ที่มีผลตอบแทนสูง นำเอกสารของผู้เสียหายเพิ่มเติม 800 ราย เป็นเอกสาร 8 ลัง และเอกสารของผู้เสียหายชาวลาวที่ถูกหลอกจากแชร์หม่อนไหมอีก 480 คน

หลังจากที่เคยเข้ายื่นเรื่องร้องเรียนเมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากมีผู้เสียหายกว่า 40,000 คนทั่วประเทศ มูลค่าความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท มามอบให้พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เพื่อขอให้รับเป็นคดีพิเศษและช่วยเหลือผู้เสียหาย รวมถึงดำเนินการจับกุมยึดอายัดทรัพย์ของมิจฉาชีพด้วย โดยมี พ.ต.ท.อานนท์ อุนทริจันทร์ รองผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 เป็นผู้รับเรื่อง

นายสามารถ กล่าวว่า การเดินทางมาในวันนี้เพื่อนำเอกสารของผู้เสียหายในคดีแชร์คอร์สสัมนามามอบให้อธิบดีดีเอสไอ ซึ่งเป็นเอกสารหลักฐานของผู้เสียหายเพิ่มเติมจากก่อนหน้านี้ อีกทั้งยังมาติดตามความคืบหน้าทางคดีด้วย ตนมั่นใจในพยานหลักฐานที่นำมามอบให้ดีเอสไอในวันนี้ และดีเอสไอจะรับเป็นคดีพิเศษเพื่อดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

นอกจากนี้ ตนอยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อให้ได้ 500,000 รายชื่อ เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีในการแก้กฎหมายเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ ซึ่งขณะนี้สามารถรวบรวมรายชื่อได้แล้วประมาณ 380,000 ราย โดยเราต้องการให้เพิ่มอัตราโทษในคดีความผิดเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ การเยียวยาผู้เสียหายให้ได้ภายใน 3 ปี และให้มีหน่วยงานเฉพาะในการรับเรื่องของแชร์ลูกโซ่ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้เสียหาย

ด้าน พ.ต.ท.อานนท์ กล่าวว่า ตนขอชี้แจงความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีแชร์ลูกโซ่ที่ดีเอสไอกำลังดำเนินการ คือ 1.กรณีแชร์หลอกลงทุนคอร์สสัมมนา เราได้รับเรื่องไว้ดำเนินการแล้ว และอยู่ในขั้นตอนนำเสนอเรื่องให้อธิบดีดีเอสไอพิจารณาว่าจะเข้าหลักเกณฑ์รับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ เบื้องต้นกรณีดังกล่าวพบข้อมูลมีผู้เสียหาย 700 ราย ใน 44 จังหวัด จากที่คาดว่าจะมีผู้เสียหาย 1,200 ราย

ส่วนพฤติการณ์ความผิดมีลักษณะเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ ซึ่งพนักงานสอบสวนเชื่อว่าจะสามารถรับเป็นคดีพิเศษได้ และ 2.กรณีแชร์หม่อนไหม หรือแชร์ภูน้ำลำชี ที่หลอกลงทุนปลูกพืชมัลเบอรี่หรือลูกหม่อน และประกันราคารับซื้อผลผลิต พร้อมเชิญชวนเกษตรกรมาร่วมลงทุนธุรกิจนั้น อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน เพราะมีการแจ้งผู้เสียหาย 1,000 ราย

พ.ต.ท.อานนท์ กล่าวต่อว่า แต่จากการสืบสวนสอบสวนพบข้อมูลเพียง 200 ราย ส่วนความเสียหายที่แจ้งมาในตอนแรกคือ 100 ล้านบาท แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบเพียง 37 ล้านบาท ซึ่งทำให้มีปัญหาในเรื่องของการแจ้งความเสียหายที่ไม่ตรงกับความจริงและไม่ชัดเจน

ดังนั้น ดีเอสไอจึงขอให้ผู้เสียหายแจ้งความเสียหายที่แท้จริง เพื่อให้พนักงานสอบสวนสามารถวางแผนในการสอบสวนดำเนินคดีได้กระชับ รวดเร็ว และติดตามทรัพย์สินได้ทันที ทั้งนี้ ปัญหาของคดีแชร์ลูกโซ่คือคดีมีความล่าช้า แต่นโยบายในปัจจุบันของอธิบดีดีเอสไอคือการใช้การสื่อสารระบบสั่งการเทคโนโลยีในการรวบรวมพยานหลักฐานของผู้เสียหายให้รวดเร็วมากขึ้น แม้จะมีผู้เสียหายจำนวนมากแต่เราก็สามารถวางแผนการสอบสวนในแต่ละจังหวัดได้ เพราะเรามีฐานข้อมูลในระบบอยู่แล้ว

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน