แนะรัฐช่วยเหลือ กลุ่มคนเปราะบาง เข้าไม่ถึงเยียวยาโควิด-19
ในสถานการณ์วิกฤตการณ์ระบาดของโรคไวรัสโควิค 19 พบกลุ่มคนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการได้รับโรคและเผยแพร่โรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่มีบ้านด้วยสาเหตุต่างๆ รวมทั้งผู้หญิงและเด็กจากความรุนแรงในครอบครัว
นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ เปิดเผยว่า แม้รัฐบาลจะพยายามช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 แต่ก็มีกลุ่มเปราะบางที่ตกหล่นจากการช่วยเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไร้บ้านซึ่งมีเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ทั้งคนไทยและคนต่างชาติ แต่ความช่วยเหลือที่ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์วางมาตรการไว้ กลับช่วยเหลือเฉพาะคนไทย ที่มีบัตรประจำตัวประชาชน
เกาะติดข่าวโควิด กดติดตามไลน์ข่าวสด official account ได้ที่นี่
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า คนไร้บ้านจำนวนมากไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน เป็นคนตกหล่น ไร้ญาติ ทั้งที่เป็นคนไทย และมีแรงงานข้ามชาติอีกจำนวนหนึ่งที่ตกงาน ไม่มีค่าเช่าบ้าน ไม่มีที่อยู่ รวมทั้งไม่สามารถเดินทางกลับประทศได้ในขณะนี้ กลุ่มเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือของรัฐได้ ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ต้องรีบดำเนินการช่วยเหลือคนเหล่านี้โดยด่วน เพราะคนเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะได้รับและเผยแพร่โรคระบาดโควิด 19 เนื่องจากต้องอยู่ในพื้นที่สาธารณะและไม่มีการเฝ้าระวัง
ทั้งนี้รัฐบาลโดย นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มีโครงการ”เราไม่ทิ้งกัน” บริการที่พักสะอาดอาหาร 3 มื้อ ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย สำหรับคนไร้ญาติ คนตกงานในช่วงนี้ โดยจัดบ้านมิตรไมตรีไว้รองรับอย่างน้อย 4 แห่ง สามารถติดต่อสอบถามและใช้บริการได้ที่สายด่วน 1300
ขณะที่สายด่วน 1300 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยืนยันว่ามาตราการที่ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ช่วยเหลือ คือสำหรับคนไทย เนื่องจากต้องใช้บัตรประชาชนในการติดต่อ
นายสุรพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องเข้าไปดูแลใกล้ชิดคือ กลุ่มผู้หญิงและเด็กที่ได้รับความตึงเครียดของการอยู่ร่วมกันในครอบครัว โดยไม่สามารถเดินทางไปมาได้ ประกอบกับความตึงเครียดทางเศรษฐกิจที่คนจำนวนมากไม่มีงานทำหรือรายได้ลดลงมาก ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งพบว่าช่วงการระบาดของโควิด 19 มีความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นมาก
นายสุรพงษ์ เสนอว่า รัฐควรรณรงค์และเพิ่มช่องทางเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ประสบความรุนแรง รวมถึงการเพิ่มทรัพยากรเพื่อสนับสนุนที่พักพิงชั่วคราวสำหรับบุคคลที่ประสบความรุนแรง เช่นบ้านมิตรไมตรี หรือบ้านพักเด็กและครอบครัว ตลอดจนการให้คำแนะนำคำปรึกษาออนไลน์ ทางสายด่วน 1300 อีกทั้งปรับบริการให้เข้ากับบริบทสถานการณ์วิกฤตในเชิงรุกเพื่อให้แน่ใจว่าผู้เสียหายสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือ
ในรายงานของ UN Women เรื่อง “Policy Brief: The Impact of COVID-19 on Women” ระบุว่า ในปีที่ผ่านมามีผู้หญิงและเด็กผู้หญิงอายุ 15-49 ปี จำนวน 243 ล้านคนทั่วโลกต้องเผชิญกับความรุนแรงทางเพศและ/หรือความรุนแรงทางร่างกาย แต่ปัจจุบัน ความรุนแรงมีแนวโน้มที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากความเครียดด้านความปลอดภัย สุขภาพและการเงิน อีกทั้งความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นด้วยสภาพความเป็นอยู่ที่จำกัด
จากข้อมูลที่เกิดขึ้นในหลายประเทศแสดงให้เห็นว่านับตั้งแต่มีการระบาดของ โควิด-19 ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงในครอบครัวได้ทวีความรุนแรงขึ้น เช่น ในประเทศฝรั่งเศส มีรายงานความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น 30% นับตั้งแต่มีการปิดเมืองเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563
ในประเทศอาร์เจนตินา มีการแจ้งเหตุฉุกเฉินที่เกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น 25% นับตั้งแต่การปิดเมืองเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 ในประเทศไซปรัสและประเทศสิงคโปร์ มีการบันทึกเหตุความรุนแรงที่สายด่วนทางโทรศัพท์เพิ่มขึ้น 30% และ 33% ตามลำดับ
นอกจากนี้ ยังมีรายงานกรณีความรุนแรงในครอบครัวและความต้องการที่พักพิงฉุกเฉินที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศแคนาดา ประเทศเยอรมนี ประเทศสเปน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา