3 เดือนโควิด! กรมควบคุมโรคชี้อุบัติเหตุลดฮวบ เจ็บ-ตายน้อยลง ลดสูญเสีย 1.7 หมื่นล้าน
วันที่ 26 พ.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวเวทีเสวนาวิชาการ DDC Forum เรื่อง “อุบัติเหตุทางถนน ยุค New Normal” ว่า ปัญหาหนึ่งของไทยที่ไม่ด้อยไปกว่าโรคโควิด-19 คือ อุบัติเหตุทางถนน โดยช่วง ม.ค. – มี.ค. 2563 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 4,924 คน เฉลี่ย 55 คนต่อวัน บาดเจ็บ 277,141 คน
กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
โดยเจ็บหนักต้องนอนโรงพยาบาล 44,774 คน มีผู้พิการเกิดขึ้นอีกเกือบ 2,060 คน อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลง โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ ที่พบผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตลดลงจำนวนมาก จากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างจังหวัด จำกัดช่วงเวลาออกนอกเคหะสถาน (เคอร์ฟิว) ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา พบว่า ม.ค. – มี.ค. 2563 มีผู้เสียชีวิตลดลง 595 คน หรือลดลง 10.78% จากปี 2562 ที่เสียชีวิต 5,519 คน จำนวนผู้บาดเจ็บลดลง 94,626 คน หรือ 25.45% จากปี 62 ที่บาดเจ็บ 371,767 คน จึงช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 1.7 หมื่นล้านบาท โดยปี 2562 มีมูลค่าความสูญเสีย 7.7 หมื่นล้านบาท ปี 2563 ประมาณ 5.9 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะ มี.ค.เดือนเดียว ที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้มีปริมาณการเดินทางลดลง การห้ามออกนอกเคหะสถานช่วงเวลา 22.00-04.00 น. และมีการตั้งด่านความมั่นคง ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง 201 คน คิดเป็น 10.85% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่เสียชีวิตใน มี.ค.1,853 คน และบาดเจ็บลดลง 64,885 คน หรือ 50.10% จากปี 2562 บาดเจ็บ 129,498 คน
“แม้สถานการณ์ดูเหมือนจะดีขึ้น แต่ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนยังมีความรุนแรงสูง เพราะ ม.ค.-มี.ค. 63 ยังมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 50-58 คน แต่ในหลายพื้นที่ต้องใช้ทรัพยากรไปกับการป้องกันโควิด ทำให้การทำงานป้องกันอุบัติเหตุมีข้อจำกัด และช่วง พ.ค. ที่มีการผ่อนปรนมาตรการ ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านกังวลสถานการณ์จะกลับมารุนแรงมากขึ้น เพราะบางมาตรการที่ช่วยลดแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และลดอุบัติเหตุถูกผ่อนปรนด้วย
เช่น การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยิ่งช่วงนี้เข้าฤดูฝน ทัศนวิสัยไม่ดี ถนนลื่น มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น และใกล้เปิดเทอม เด็กนักเรียนไปโรงเรียน การเดินทางโดยรถสาธารณะจะไม่เหมือนเดิม ต้องเว้นระยะห่าง ทำให้แต่ละเที่ยวบรรทุกผู้โดยสารได้น้อยลง อาจเป็นแรงส่งให้มองหาพาหนะมาใช้เองเพื่อความสะดวกคล่องตัว ทำให้หันมาใช้รถจักรยานยนต์และรถยนต์เพิ่มมากขึ้น ปัญหาอุบัติเหตุอาจเข้าสู่จุดวิกฤต ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนอุบัติเหตุสูงขึ้นได้ ”
นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า อีกมาตรการที่กรมควบคุมโรคแนะนำประชาชนในการป้องกันโควิด โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้รถจักรยานยนต์ คือ สวมหมวกนิรภัยควบคู่กับการใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ใช้รถจักรยานยนต์ เพราะหมวกนิรภัยที่มีกระจกป้องกันลม กระจกป้องกันลมจะทำหน้าที่เป็นหน้ากากพลาสติกคลุมหน้าคล้าย face shield นอกจากจะป้องกันอุบัติเหตุเป็นหลักแล้ว ยังสามารถป้องกันเชื้อโควิดจากคนรอบข้างได้ ถือว่าสร้างความปลอดภัยยกกำลัง 2 และหลังสวมหมวกนิรภัยทั้งตัวผู้ขับขี่และคนซ้อนท้าย ควรมีการเช็ดทำความสะอาดหมวกนิรภัยด้วยแอลกอฮอล์หรือเช็ดด้วยน้ำสบู่ น้ำยาล้างมือ นำไปตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรค