ทส.จัด วันทะเลโลก เผยทั่วโลกร่วมป้องพื้นที่มหาสมุทร ยันเร่งฟื้นฟูแหล่งเสื่อมโทรม

วันที่ 8 มิ.ย. ที่กรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม(สส.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เป็นประธานเปิดงานวันทะเลโลก โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส. นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ผู้บริหารระดับสูง รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง UNDP, UNEP, สมาคมบลูคาร์บอนโซไซตี้, บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน), ธุรกิจเคมิคอลส์ เอส ซี จี, Ocean CleanUp และมูลนิธิ TerraCycle ThaiFoundation รวมทั้งเข้าร่วมงาน

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

นายวราวุธ กล่าวเปิดงานว่า สหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 8 มิ.ย. ของทุกปี เป็นวันทะเลโลก เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้คนทั้งโลกหันมาใส่ใจ ร่วมกันอนุรักษ์ท้องทะเล โดยในปี 2563 ได้กำหนดการจัดงานภายใต้ธีมการจัดงาน Innovation for a Sustainable Ocean หรือ “นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของมหาสมุทร”

ซึ่งทั่วโลกต่างเรียกร้องให้ผู้นำประเทศออกมาปกป้องมหาสมุทร และกำหนดแผน 30×30 เป็นการปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อยร้อยละ 30 ให้เป็นเขตปกป้องระบบนิเวศทางทะเลที่ปลอดภัยจากการตักตวงประโยชน์ของมนุษย์ ซึ่งจะเป็นแผนระหว่างปี 2564 – 2573 โดยทั่วโลกจะต้องร่วมปกป้องมหาสมุทรไว้ให้ได้ตามแผน สาระสำคัญไม่ใช่แค่ปกป้องจากสิ่งที่เรามีอยู่ แต่ทรัพยากรทางทะเลที่เสื่อมโทรมเราต้องฟื้นฟูด้วย ซึ่งความเสื่อมโทรมเหล่านี้มาจากกิจกรรมการท่องเที่ยวของมนุษย์ การประมง การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ปะการังฟอกขาว เป็นต้น

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า เราพบปัญหามากมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในไทย จากการใช้ประโยชน์จากท้องทะเลเพื่อการท่องเที่ยว การดำรงชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสร้างรายได้ปีละหลายแสนล้าน ซึ่งถึงเวลาที่เราต้องดูแลธรรมชาติให้กลับคืนมาบ้าง

ที่ผ่านมามีการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งการออกกฎหมาย การจำกัดนักท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ การเร่งฟื้นฟูป่าชายเลนที่ขณะนี้มีพื้นที่ป่าชายเลนสมบูรณ์ 1.53 ล้านไร่ จากพื้นที่ 2.86 ของพื้นที่ป่าชายเลนทั่วประเทศ ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่แต่เดิมมีปัญหาเป็นระยะทางยาวกว่า 700 กิโลเมตร ซึ่งทางกรมทช. ได้แก้ปัญหาจนขณะนี้เหลือเพียง 80 กิโลเมตร การดูแล 8 กลุ่มหาดทะเล

“ช่วงโควิด-19 รัฐบาลมีมาตรการงดการเดินทางและปิดแหล่งท่องเที่ยว ส่งผลให้เราพบเห็นสัตว์ป่า และสัตว์ทะเลหายากมากขึ้น ทั้งฝูงพะยูนเกือบ 20 ตัวที่เกาะลิบง จ.ตรัง ฝูงวาฬเพชฌฆาตดำมากกว่า 30 ตัว โผล่ขึ้นมาเล่นน้ำใกล้เกาะรอก ฝูงฉลามวาฬ จำนวนมาก ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา และ ฝูงฉลามหูดำ เข้ามาหากินที่หมู่เกาะพีพี และเกาะห้อง จ.กระบี่ และการวางไข่ของเต่ามะเฟือง เต่าตนุ กว่านับแสนฟองในช่วงระยะเวลาแค่ 2 เดือน รวมทั้งทรัพยากรปะการังที่เริ่มฟื้นฟูตัวเอง” นายวราวุธ กล่าว

รมว.ทส. กล่าวย้ำว่า ผืนทะเลกว้างใหญ่มีสิ่งมีชีวิตตั้งแต่ขนาดเล็กจนตาเรามองไม่เห็น ไปจนถึงสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก อย่างวาฬสีน้ำเงิน ซึ่งปัจจุบันเหลือไม่ถึง 10,000 ตัว และอาจจะมีสิ่งมีชีวิต ที่เราไม่เคยพบเจออีกก็เป็นได้ การดูแลท้องทะเลอันกว้างใหญ่ เพียงแค่เจ้าหน้าที่ภาครัฐคงยากที่จะดูแลได้หมด ต้องอาศัยความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนทุกคน

รวมทั้งภาคเอกชน และทุกประเทศทั่วโลก ทะเลเชื่อมต่อกันเป็นผืนเดียวกัน ผลจากการกระทำของเรา สามารถส่งผลกระทบไปได้ไกลกว่าที่เราคิด เทคโนโลยีเป็นแค่เครื่องมือช่วยให้การจัดการปัญหาง่ายและรวดเร็วขึ้นเท่านั้น แต่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด คือ ปรับพฤติกรรมของเรา เพื่อส่งคืนทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์สู่ลูกหลานเราต่อไป

ด้าน นายโสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในงานกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้จัดแสดงนิทรรศการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เช่น การใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับในการสำรวจสัตว์ทะเลหายาก ระบบพยากรณ์ทางสมุทรศาสตร์กับการเฝ้าระวังปะการังฟอกขาว การประยุกต์ใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจัดวางเป็นปะการังเทียม เป็นต้น

ทั้งนี้กรมทช. พร้อมจะขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้นโยบายของรัฐบาล และสานต่อการปฏิบัติงานตามพันธกรณีที่ประเทศได้ร่วมลงนามความตกลง เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู ปกป้องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้คงอยู่และยั่งยืน พร้อมส่งต่อให้เยาวชนรุ่นต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน