กรณีขบวนรถไฟที่บรรทุกปูนซิเมนต์พลิกคว่ำตกรางที่บริเวณ 5 แยกหัวรถไฟ เขตเทศบาลนครนครราชสีมา ห่างจากสถานีรถไฟนครราชสีมา 300 เมตร ส่งผลให้โบกี้ที่บรรทุกปูนซิเมนต์ผง จำนวน 9 โบกี้ ของบริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) จากโรงงานในเขต อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ไปส่งปลายทางที่ จ.อุบลราชธานี ตกรางและพลิกคว่ำ ล้อหลุด รางรถไฟคดได้รับความเสียหาย เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการเดินรถภาค 2 นครราชสีมา เร่งกู้สถานการณ์ โดยรถไฟทุกขบวนที่มุ่งหน้าไปภาคอีสานต้องหยุดชะงัก เจ้าหน้าที่คาดว่าจะใช้เวลาในการกู้ซากรถไฟไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง ตามที่เสนอข่าวไปนั้น อ่านข่าว รถไฟบรรทุกปูนซิเมนต์ พลิกคว่ำตกรางกลางเมืองโคราช เดินรถสายอีสานชะงัก(คลิป)

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี และกองบิน 1 นครราชสีมา เจ้าหน้าที่ต้องปิดถนน และเร่งกู้ 9 โบกี้ที่ตกรางขวางถนน โดยนายศักดิ์ชัย ทรัพย์ใจเที่ยง ผู้อำนวยศูนย์ปฏิบัติการเดินรถภาค 2 มาควบคุม สั่งการให้เร่งกู้สถานการณ์ โดยว่าจ้างรถเครนขนาดใหญ่ของเอกชน จำนวน 2 คัน ยกโบกี้บรรทุกปูนซีเมนต์ผง น้ำหนักรวม 50 ตัน ออกจากผิวถนน ซึ่งต้องแยกชิ้นส่วนล้อออกจากตัวโบกี้กันอย่างทุลักทุเล ประมาณ 04.30 น. จึงสามารถกู้ได้สำเร็จ

ส่วนอีก 7 โบกี้ที่ตกรางขวางรางประธาน ซึ่งเส้นทางหลักเพียง ได้ประสานหน่วยกู้ภัยม้าเหล็กบางซื่อ (การรถไฟแห่งประเทศไทย) จัดรถเครนขนาดใหญ่พร้อมเจ้าหน้าที่มาเร่งกู้ทีละโบกี้ โดยยกโบกี้ที่เสียหายออกจากราง จนกระทั่งเวลา 11.00 น. จึงสามารถเปิดเดินรถได้ตามปกติ

ด้านนายอำพล รัตนิยะ รองนายสถานีรถไฟนครราชสีมา เปิดเผยว่า ผลกระทบทำให้การเดินรถสายภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งขาขึ้นและขาล่อง รวม 14 ขบวน ต้องเสียเวลาเฉลี่ยขบวนละไม่ต่ำกว่า 2-3 ชั่วโมง เนื่องจากต้องเพิ่มระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร โดยบรรเทาปัญหาขาล่องหรือต้นทางสถานีกรุงเทพ ทุกขบวนเมื่อถึงสถานีชุมทางแก่งคอย จ.สระบุรี เปลี่ยนใช้เส้นทางมาที่สถานีชุมทางถนนบัวใหญ่ จ.นครราชสีมา

จากนั้นแล่นกลับไปสถานีชุมทางถนนจิระ จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นทางแยกไปภาคอีสานตอนล่าง ส่วนขาขึ้นต้นทางจาก จ.อุบล ฯ เมื่อถึงสถานีชุมทางถนนจิระ แล่นกลับไปที่สถานีชุมทางถนนบัวใหญ่ มุ่งหน้าไปสถานีชุมทางแก่งคอย เพื่อไปปลายทางที่สถานีกรุงเทพ

สาเหตุเบื้องต้นจากการตรวจสภาพที่เกิดเหตุพบเศษโลหะวงแหวนล้อโบกี้ที่ 12 ติดคาอยู่บนรางช่วงหัวประแจสับราง บริเวณช่วงหลักเสาโทรเลขที่ 264/5-6 สันนิษฐานขณะขบวนรถได้เปลี่ยนจากราง 7 เข้าสู่รางประธาน ซึ่งเป็นช่วงทางโค้ง วงแหวนล้อชำรุดและขาดการซ่อมบำรุงไม่สามารถเกาะรางได้ ทำให้ล้อปีนรางหลุดออกมา ส่งผลให้เกิดแรงดึงโบกี้ช่วงท้ายตกรางด้วย อย่างไรก็ตามจะได้สอบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน