ฟื้นห้วยคลิตี้ ใกล้เสร็จตามแผน ชาวบ้านโวยไม่กำจัดมลพิษ ทำลายระบบนิเวศเพิ่ม

วันที 16 ก.ย. นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา เปิดเผยว่า หลังศาลปกครองสูงสุดสั่งให้กรมควบคุมมลพิษฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ 8 ปี ปัจจุบันกรมควบคุมมลพิษ กำลังสิ้นสุดการฟื้นฟู แต่พบว่า มีการนำตะกั่วออกจากลำห้วยคลิตี้ ไม่ถึง 1% และไม่เป็นการนำไป”กำจัดมลพิษ”ตามหลักวิชาการ ซึ่งต้องนำไปเข้าสู่โรงงานกำจัดมลพิษและฝังกลบในฟื้นที่ของโรงงาน กลับนำไปเพียงการย้ายที่”ฝังกลบมลพิษ” ไปอยู่ในป่าเหนือลำห้วยคลิตี้

นายสุรพงษ์ กองจันทึก

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ตะกั่วที่โรงแต่งแร่และริมลำห้วยไม่มีการนำออกไปเลย ซึ่งตะกั่วเหล่านี้เมื่อถูกน้ำฝนหรือน้ำใต้ดินก็จะไหลลงสู่ลำห้วยคลิตี้อีก ชาวบ้านจึงยังไม่สามารถใช้น้ำในลำห้วยคลิตี้ได้ และไม่สามารถจับสัตว์น้ำ พืชน้ำมากินตามวิถีชีวิตอย่างปลอดภัยได้ จึงใคร่เรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษเร่งทำแผนและฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้อย่างแท้จริง หลังจากใช้เงินไปร่วม 500 ล้านบาทแต่ไม่สามารถกำจัดมลพิษได้

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

ด้าน น.ส.ชลาลัย นาสวนสุวรรณ แกนนำชาวบ้านคลิตี้ล่าง กล่าวว่า การก่อสร้างฝายดักตะกอนตามแบบที่กรมควบคุมมลพิษก่อสร้างทั้งสิ้น 3 แห่งเสร็จแล้วนั้น ชาวบ้านคลิตี้เห็นว่าเป็นการทำลายธรรมชาติ เนื่องจากเป็นการสร้างกำแพงหินปิดกั้นลำน้ำธรรมชาติ แล้วปล่อยให้น้ำซึมไหลผ่านออกมา ทำให้ปลาและสัตว์น้ำที่อยู่ด้านล่างและด้านบนถูกแบ่งแยกไม่สามารถไปมาได้ จะทำให้ระบบนิเวศทางธรรมชาติเสียไป

น.ส.ชลาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้การที่กรมควบคุมมลพิษอ้างว่าฝายหินเหล่านี้ สามารถกักตะกอนและตะกั่วที่ปนเปื้อนในลำน้ำไว้ได้ เพื่อจะมีการขุดตะกอนหน้าฝายไปฝังกลับ แต่เมื่อก่อสร้างเสร็จพบว่า ไม่สามารถกรองและกักได้ น้ำในลำห้วยที่ผ่านฝายออกมาก็มีลักษณะสีขุ่นข้นเช่นเดียวกับน้ำเหนือฝาย

น.ส.ชลาลัย นาสวนสุวรรณ

จากกรณีที่ บริษัทตะกั่วคอนเซ็นเตรส ประเทศไทย จำกัด ทำกิจกรรมแต่งแร่ตะกั่ว แล้วปล่อยมลพิษจากการแต่งแร่ลงสู่ลำห้วยคลิตี้ ทำให้ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่าง ที่ใช้น้ำในลำห้วยอุปโภคบริโภคเจ็บป่วยล้มตาย จนมีการฟ้องบริษัทผู้ก่อให้เกิดมลพิษ และฟ้องกรมควบคุมมลพิษที่ละเลยหรือล่าช้าไม่ทำหน้าที่ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้ปราศจากมลพิษ

ต่อมา เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาว่า ให้(กรมควบคุมมลพิษ กำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟู ตรวจและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี และชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องคดี(ชาวบ้านคลิตี้ล่าง) เป็นเงินรายละ 177,199.55 บาท ทั้งนี้ภายใน 90 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

โครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ว่าจ้างบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด(มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ เริ่มสัญญา 16 พฤศจิกายน 2560 สิ้นสุดสัญญา 13 สิงหาคม 2563 รวมเวลาดำเนินการ 1,000 วัน โดยจะดูดตะกอนบางส่วนจากหน้าฝายดักตะกอน 4 ไปฝังกลบในหลุมฝังกลบ ใช้งบประมาณจากภาษีประชาชน 454,762,865.73 บาท

ต่อมาบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด(มหาชน) ขอขยายเวลาการดำเนินงานออกไปอีก 82 วัน โดยอ้างว่าติดขัดในช่วงการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด 19 ซึ่งปัจจุบันกำลังเก็บรายละเอียดของงาน จะสิ้นสุดในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน