เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่ศาลปกครองกลาง ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 352/2558 ที่กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นจากอ.แม่สอด และอ.แม่ระมาด จ.ตาก 351 คน ยื่นฟ้อง รมว.มหาดไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ,คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ,ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และอธิบดีกรมการปกครองผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ต่อศาลปกครองกลาง กรณีไม่รับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 351 คนโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.สัญชาติ(ฉบับที่5) พ.ศ.2555 และไม่ถูกต้องชอบธรรมกับประวัติศาสตร์ของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นในพื้นที่แม่สอด-เมียวดี จ.ตาก ส่งผลกระทบต่อสิทธิในสถานะบุคคลของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นในพื้นที่ จ.ตากทั้งหมด ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550


พร้อมขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ในการประชุมครั้งที่ 2/2557 เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2557 ที่มีมติให้กลุ่มผู้ฟ้องคดีไม่มีคุณสมบัติเป็นคนไทยพลัดถิ่นตามกฎหมาย และขอให้ผู้ฟ้องคดีและคนไทยพลัดถิ่นในพื้นที่ จ.ตาก ทั้งหมด เป็นคนไทยพลัดถิ่น ตามคำนิยามไทยพลัดถิ่น พ.ร.บ.สัญชาติ(ฉบับที่ 5) พ.ศ.2557 รวมทั้งให้มีคำสั่งรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นให้ชาวบ้านในพื้นที่ จ.ตาก พร้อมแจ้งนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่น ภายใน 7 วัน และเรียกร้องให้จัดตั้งกรรมการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่เมียวดี-แม่สอดภายใน 60 วัน

โดยศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเห็นว่าคำสั่งของคณะกรรมการคนไทยพลัดถิ่น ที่ไม่รับรองคนไทยพลัดถิ่น เป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงสั่งให้ดำเนินการเพิ่มชื่อคนไทยพลัดถิ่นเหล่านี้ เข้าในทะเบียนราษฎร์แบบคนไทย โดยถือว่าเป็นคนไทยด้วยการเกิด เนื่องจากคนไทยพลัดถิ่นเหล่านี้เป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายสัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไข ฉบับที่ 5 พ.ศ.2555 เนื่องจากมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ ยืนยันชัดเจนถึงความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ที่เคยเสียดินแดน ไปเมื่อปีพ.ศ.2411 พร้อมให้เพิกถอนมติผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามหนังสือด่วนที่สุดที่ 0309.1/15143 ลงวันที่ 29 ก.ย.2557 ที่ไม่ให้การรับรองการเป็นคนไทยพลัดถิ่น แก่ผู้ฟ้องคดี 351 คน ส่วนบุตรให้ถือเป็นคนไทยพลัดถิ่น มีสัญชาติไทยโดยการเกิด บุตรของคนไทยพลัดถิ่น ซึ่งได้สัญชาติไทยดังกล่าว ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดด้วย เว้นแต่บุตรผู้นั้นถือสัญชาติของประเทศอื่น ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงสถานะ ทางทะเบียนราษฎร ให้แก่บุตรของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวด้วย


ทั้งนี้รับฟังเป็นข้อยุติไว้ว่าผู้ยื่นคำขอ 351 คน เป็นผู้มีเชื้อสายไทย ตามนิยามในมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ และเห็นว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 แปลความไม่ถูกต้องตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังนั้นจึงเห็นว่ามติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ไม่รับรอง โดยอ้างว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติไม่ครบตามองค์ประกอบนิยาม คนไทยพลัดถิ่นตามมาตรา10 แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 351 คนไม่ได้สัญชาติโดยการเกิด จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงให้เพิกถอนมติ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2

นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า คำพิพากษาดังกล่าวจะเป็นบรรทัดฐานให้หน่วยงานปกครองในพื้นที่ใช้เป็นแนวปฎิบัติมอบสัญชาติคืนห้กับชาวบ้าน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกลุ่มคนที่ยื่นฟ้อง 351 คนเท่านั้น แต่ยังมีชาวบ้านอีกนับพันที่ยังไม่มีสัญชาติ รวมทั้งลูกหลานของชาวบ้านด้วย เพราะพวกเขาเสียสิทธิความเป็นคนไทยมานาน และต้องต่อสู้เรื่องสัญชาติมานานกว่า 20 ปีแล้ว ทั้งนี้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยต้องเร่งลงรายการสัญชาติไทยให้ชาวบ้านทั้งหมดเร็วที่สุด เพื่อให้พวกเขาได้สิทธิ


“เหตุผลที่ทำให้ศาลมีคำสั่งคืนสัญชาติไทยให้กับชาวบ้านกลุ่มนี้ เพราะมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าอาณาเขตที่คนกลุ่มนี้อยู่ เคยเป็นส่วนหนึ่งของสยามแต่ต้องพลัดถิ่นไป เพราะไทยเสียดินแดนในปี 2411 จึงถือว่าพวกเขาเป็นคนไทย รวมทั้งการทางการเคยขึ้นทะเบียนเป็นคนไทยพลัดถิ่นไว้แล้ว แต่ต่อมาเกิดความคาดเคลื่อน ทำให้ไม่รับรองสัญชาติให้คนกลุ่มนี้ จึงขอให้กระทรวงมหาดไทยยุติคดีเพียงเท่านี้ ไม่ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด”นายสุรพงษ์ กล่าว


ด้าน น.ส.บุญปั๋น วงษ์คำเครือ ชาวบ้านวังผา อ.แม่ระมาด จ.ตาก กล่าวว่า ดีใจมากที่ศาลเมตตามอบคืนสัญชาติให้กับพวกเรา เพราะที่ผ่านมาพวกเราต้องต่อสู้เพื่อขอสัญชาติมาอย่างยาวนานถึง 15 ปี ทั้งๆที่เราเป็นคนไทยและมีวิถีชีวิตเช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป ซึ่งการที่ไม่มีสัญชาติส่งผลกระทบกับพวกเราอย่างมาก ทั้งเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้ในฐานะคนไทย เช่น เรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยผู้พิการ เมื่อรัฐบาลเปิดให้ไปลงทะเบียนคนจนก็ไม่สามารถทำได้ เวลาน้ำท่วมก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือ ทั้งที่น้ำท่วมมิดสูงถึงหลังคา เวลาพืชผลทางการเกษตรมีปัญหาก็ไม่สามารถไปขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้ นอกจากนี้เรื่องการเดินทาง และเรื่องการทำงานก็ไม่สะดวก ไม่สามารถทำได้เหมือนคนไทยปกติ อย่างไรก็ตามหลังศาลมีคำสั่งคืนสัญชาติให้กับพวกเรา ก็อยากให้กระทรวงมหาดไทย และกรมการปกครอง ช่วยพิจารณาให้สัญชาติพวกเราโดยเร็ว รวมถึงเร่งพิจารณาให้กับคนไทยพลัดถิ่นอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย เพื่อที่พวกเราจะได้รับสิทธิต่างๆตามความชอบธรรม

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน