เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 18 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรับแจ้งว่าที่ชายทะเลหาดเจ้าสำราญ บริเวณ หมู่ 3 ต.หาดเจ้าสำราญ อ.เมือง จ.เพชรบุรี เกิดปรากฎการณ์ทางธรรมชาติน้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีแดง หรือชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่าน้ำเบียด ส่งผลทำให้มีสัตว์น้ำตายเกลื่อนชายหาดเป็นจำนวนมาก ตรวจสอบพบสัตว์น้ำหลายชนิด ทั้ง ปูม้า กุ้ง ปลาแป้น ปลาจวด ปลาเห็ดโคนฯลฯ ลอยตัวผิวน้ำ และถูกคลื่นทะเลซัดมาเกยริมชายหาดจำนวนมาก ชาวบ้านต่างนำอุปกรณ์จับปลา ไม่ว่าจะเป็น แห อวน สวิง ลงทะเลไปจับสัตว์น้ำ เต็มชายหาด บางคนนำอวนมาล้อม ได้ปลาน้อยใหญ่กันคนละหลายสิบกิโล บางครอบครัวนำใส่เรือจนเกือบเต็มลำเรือ

สอบถามนายอุเทน เพชรคง อายุ 41 ปี ชาวประมงหาดเจ้าสำราญ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา มีฝนตกหนักในพื้นที่ทำให้น้ำจืดไหลลงทะเลอย่างทะเลอย่างรวดเร็ว ประกอบวันนี้สภาพอากาศค่อนข้างปิด มืดครึ้มตลอดทั้งวัน น้ำทะเลมีสีแดงขุ่น หรือชาวบ้านและชาวประมงในพื้นที่เรียกว่าน้ำเบียด โดยเมื่อน้ำจืดไหลลงทะเลอย่างรวดเร็วในปริมาณมากๆเช่นนี้ สัตว์ทะเลจะปรับตัวไม่ทัน จนเกิดอาการน็อคน้ำ ลอยตัวผิวน้ำและเข้าฝั่งเป็นจำนวนมากซึ่งปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี

ผู้สื่อข่าวสอบถามนายประพันธ์ ลีปายะคุณ ประมงจังหวัดเพชรบุรี ทราบว่า เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ อย่างหนึ่งของทะเลบริเวณปากแม่น้ำ ยิ่งมีความขุ่นของตะกอนดินมากก็ยิ่งสังเกตเห็นขอบเขตได้อย่างชัดเจน ซึ่งบางครั้งอาจพบลักษณะขอบเขตนี้เป็นสองชั้นได้ คือน้ำทะเลปะทะน้ำกร่อยและน้ำกร่อยปะทะน้ำเค็ม แต่ด้วยความขุ่นของตะกอนดินอาจทำให้ไม่สามารถแยกเขตระหว่างน้ำจืดและน้ำกร่อย การผสมกันระว่างชั้นน้ำบริเวณปากแม่น้ำในช่วงน้ำหลากมากนั้นเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป การแบ่งขั้นของน้ำจึงคงอยู่เป็นระยะเวลายาวนาน มวลน้ำชั้นล่างซึ่งไม่ได้รับแสงแดดแพลงก์ตอนพืชไม่สามารถสังเคราะห์แสงและเติมออกซิเจนให้กับน้ำได้ เมื่อถูกใช้ในกระบวนการหายใจของสัตว์น้ำได้มากขึ้น ออกซิเจนในน้ำจะยิ่งลดลงจนเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำหน้าดิน โดยเฉพาะที่อาศัยใกล้ชายฝั่งได้ นอกจากนี้น้ำเบียดที่เป็นทั้งน้ำเสียจากแม่น้ำเองและที่เกิดจากน้ำเปลี่ยนสี สามารถผลักดันหรือกวาดต้อนฝูงสัตว์น้ำให้หนีไปรวมกันตามแนวเขตได้ หรืออาจทำให้สัตว์น้ำที่หนีไม่ทันตายได้ ดังนั้นลักษณะของ”น้ำเบียด-น้ำกัน” เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในระยะสั้นไม่เกิน 2-3 วัน ก็จะเข้าสู่สภาวะปกติ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน