ม.ขอนแก่น ทดลองปลูกกัญชา ทดสอบสายพันธุ์เพื่อการแพทย์ ชุดแรกสำเร็จแล้ว เตรียมปลูกชุดที่ 2 เผยเป็นพื้นที่เหมาะสม ผลิตช่อดอกกัญชาได้สมบูรณ์ที่สุด

วันที่ 4 พ.ย.2563 ที่ม.ขอนแก่น ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภาม.ขอนแก่น พร้อมด้วยนายวรทัศน์ ธุรีจันทร์ รองผู้ว่าจ.ขอนแก่น และศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดี ม.ขอนแก่น ร่วมเก็บผลผลิตและตัดช่อดอกกัญชา ที่ม.ขอนแก่น ได้ทำการทดลองปลูกที่แปลงกัญชาระบบปิด ขณะนี้สามารถนำไปทำการทดสอบทางการแพทย์ได้แล้ว

ศ.ดร.มนต์ชัย กล่าวว่า ดอกกัญชาที่ครบกำหนดตัดในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิจัยการประเมินสายพันธ์กัญชา เพื่อการแพทย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับอนุญาตในการผลิตและปลูกชุดแรก ซึ่งม.ขอนแก่น เป็นที่แรกที่ได้รับอนุญาติให้ปลูกกัญชาเพื่อการศึกษาวิจัย จำนวนพื้นที่ในการปลูก 20 ตารางเมตร โดยได้ปลูกมาตั้งแต่เดือน เม.ย. 63 และครบกำหนดตัดช่อดอกในวันนี้ ซึ่งคณะทำงานจะทำการเก็บไปเพื่อประเมินสานพันธุ์และพัฒนาสายพันธุ์ที่เหมาะสมในการนำไปใช้ทางการแพทย์ต่อไป

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

ศ.ดร.มนต์ชัย กล่าวต่อว่า ชุดนี้เป็นชุดแรก มีทั้งหมด 35 ต้น ในพื้นที่ 10 ตารางเมตร ในหนึ่งปีจะปลูกได้ทั้งหมด 3 ชุด ประมาณ 100 ต้น ล่าสุดได้รับอนุญาตในการปลูกชุดที่ 2 แล้ว จะเป็นการปลูกในระบบโรงเรือนพลาสติก ในพื้นที่ 2 ไร่ ซึ่งการดำเนินการปลูกที่ผ่านมา ม.ขอนแก่น ได้คะแนนการปลูก 100 คะแนนเต็ม เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสม โดยโรงเรือนที่จะมีการขยายการปลูก แต่ละชุดจะสามารถปลูกได้ประมาณ 500-700 ต้น ใน 1 ปี ปลูกได้ 3 ชุด รวมแล้วประมาณเกือบ 2,000 ต้น ซึ่งถือว่าเป็นการผลิตช่อดอกกัญชาที่สมบูรณ์ที่สุดที่ผลิตในเชิงอุตสาหกรรมและรองรับคนที่จะมาใช้ประโยชน์ได้

ศ.ดร.มนต์ชัย กล่าวต่ออีกว่า ช่อดอกกัญชาที่ตัดได้ในคราวนี้ จะส่งต่อไปที่ส่วนการสกัดสาร ซึ่งได้รับการอนุญาตจาก อย. ให้เป็นพื้นที่ในการสกัดสาร โดยสารสำคัญที่เราต้องการมี 2 ชนิดคือสาร CBD ที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ และสาร THC หรือสารเมา ซึ่งมีประโยชน์ทางการแพทย์ทั้งคู่ เนื่องจากสายพันธุ์ที่ได้มีการตัดในครั้งนี้ จะมีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ จะมีการเปรียบเทียบว่า เมื่อปลูกอยู่ในระบบปิด ด้วยการควบคุมอุณหภูมิ ควบคุมแสงจะได้ปริมาณสารเป็นอย่างไร

จากนั้นเมื่อสกัดสารได้แล้วจะส่งต่อไปที่เภสัชศาสตร์เพื่อพัฒนารูปแบบการทำเป็นยารักษา เพราะปัจจุบันจะเป็นการนำมาใช้ในรูปแบบของแพทย์แผนไทยในลักษณะการหยดใต้ลิ้นอย่างเดียว ทำให้ไม่เป็นที่แน่ชัดในเรื่องปริมาณของสารสำคัญ คณะเภสัชศาสตร์ก็จะมีการพัฒนาว่าจะเป็นระบบหยดใต้ลิ้นก็ต้องรู้ว่ามีสารเมาเท่าไหร่ ด้วยสัดส่วน 1 ต่อ 1 หรือ 2 ต่อ1 เพื่อให้ทางการแพทย์ใช้ต่อไป

ศ.ดร.มนต์ชัย กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ม.ขอนแก่น ยังได้รับอนุญาตจากทาง อย. ให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น เม็ดอม แผ่นแปะหรือยาเหน็บทวารสำหรับผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งเมื่อพัฒนารูปแบบดังกล่าวได้แล้ว จะส่งต่อไปยังคณะแพทยศาสตร์ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ที่สนใจศึกษาวิจัยด้านโรคต่าง ๆ ที่ใช้ยาจากกัญชาเป็นองค์ประกอบของสารสำคัญแบบต่าง ๆ ซึ่งเบื้องต้นมีแพทย์ให้ความสนใจในเรื่องดังกล่าวจำนวนมาก ที่จะเอายาจากกัญชาไปใช้ในกลุ่ม โรคพากินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรคมะเร็งรังไข่ โรคสะเก็ดเงิน

ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการเรื่องจริยธรรมวิจัยในมนุษย์ก่อนจะศึกษาอย่างจริงจัง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทางด้านงานวิจัย เพื่อทางด้านการแพทย์อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ม.ขอนแก่น โดยสถาบันแคนนาบิส ครบศาสตร์ ได้ดำเนินการครอบคลุมและครบถ้วนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ก่อนที่จะมีการนำไปใช้จริง และมีรพ.ศรีนครินทร์ รองรับ เมื่อหมอได้ดูแลผู้ป่วยที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว จะทำให้มั่นใจในการใช้ ดังนั้นในอนาคตเราอาจจะไม่ต้องพึ่งยาจากต่างประเทศอย่างเดียว เพราะเรามีสมุนไพรไทย ที่สามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรคที่สำคัญ ๆ ของประเทศไทยได้อย่างครบวงจร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน