โวยส่งกับสมาคมฯ 19 ปี พอเสียชีวิตตามไปทวงเงินค่าปลงศพ 8 หมื่น แต่ถูกปฏิเสธ ถึงขั้นร้องศูนย์ดำรงธรรม กว่าจะได้มา 5 หมื่น ที่เหลือไร้วี่แวว

เมื่อวันที่ 17 พ.ย.63 ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน ต.หัวฝาย อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ ว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมกับสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ สมาชิกกองทุนเครือข่าย อ.แคนดง หลังจากยายเสียชีวิตไปแล้ว ไม่ยอมจ่ายเงินตามสัญญา ต้องกู้ยืมเงินนอกระบบมาจัดงานศพ

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

ผู้สื่อข่าวจึงลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ยังบ้านของนางถม กมลพันธ์ อายุ 88 ปี ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านม เมื่อวันที่ 30 ก.ค.63 หรือกว่า 3 เดือนที่ผ่านมา สอบถาม นางวิภาดา ธุระวรรณสกุล อายุ 37 ปี หลานผู้เสียชีวิต เล่าว่า หลังจากยายเสียชีวิตลง ครอบครัวก็หวังเงินฌาปนกิจศพจากสมาคมฯ มาจัดงานศพ ซึ่งจะได้เงินประมาณ 80,000 บาท จึงไปเซ็นอาหารเครื่องดื่มและสิ่งของจำเป็น สำหรับงานศพมาก่อนล่วงหน้า หวังว่าหลังเสร็จงานศพ จะได้นำเงินฌาปนกิจศพมาจ่ายหนี้สินคืน

แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการสมาคมฯแจ้งว่า ยังไม่มีเงิน จึงจำเป็นต้องกู้เงินนอกระบบมาชำระหนี้แทนก่อน จากนั้นติดตามทวงถามเงินจากสมาคมฯ แต่ไม่ได้รับคำตอบ อ้างว่าเงินยังเก็บเงินไม่ได้ ผ่านไปกว่า 2 เดือนจึงเดินทางไปร้องทุกข์ต่อศูนย์ดำรงธรรม อ.แคนดง จากนั้นสมาคมฯ จึงจ่ายเงินมาให้ 50,000 บาท ส่วนอีก 30,000 บาท ยังไม่มีวี่แววว่าจะได้ตอนไหน

“ยายเข้าร่วมกับกลุ่มฌาปนกิจศพมานานกว่า 19 ปี โดยสมาคมฯจะเก็บเงินปีละ 2 ครั้งๆ 840 รวมจ่ายปีละ 1,680 บาท ที่ผ่านมาไม่เคยค้างเงินสมทบ ตอนนี้ครอบครัวได้รับความลำบาก ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบ และยังไม่รู้ว่าเงินที่เหลือจะได้ตอนไหน” นางวิภาดา กล่าว

ด้าน นางยวง ดีชัยรัมย์ อายุ 64 ปี ชาวบ้านในหมู่บ้าน หนึ่งในสมาชิกของสมาคมฯ กล่าวว่า ตอนนี้รู้สึกกังวลใจเป็นอย่างมาก เป็นห่วงบุตรหลาน หากตัวเองเสียชีวิตลง เกรงว่าบุตรหลานจะเจอกับเหตุการณ์แบบนี้อีก

จากการสอบถาม นายบุญร่วม จิมานัง นายกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์สมาชิกกองทุนเครือข่าย อ.แคนดง ออกมาระบุว่า สมาคมตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 4,300 คน ตนเป็นประธานตั้งแต่ครั้งแรก จนมาตั้งเป็นสมาคม ยังคงได้รับตำแหน่งนายกสมาคมฯมาจนถึงปัจจุบัน

การตั้งสมาคมฯครั้งนั้น เป็นการร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งอำเภอและผู้นำชุมชนทั้งหมด 42 หมู่บ้านใน อ.แคนดง สาเหตุที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันที่ชาวบ้านที่กู้ยืมเงินจากกองทุนเงินล้านของแต่ละหมู่บ้าน รายละ 10,000-70,000 บาท

“โดยสมาคมฯตั้งกฎระเบียบว่า หากผู้เสียชีวิต สมาคมจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์คนแรก คือต้องนำเงินไปชำระหนี้เงินล้านที่ผู้เสียชีวิตกู้ยืมมาจากหมู่บ้านนั้นๆ ส่วนที่เหลือสมาคมฯจะจ่ายให้ญาติที่ใกล้ชิดตามลำดับ โดยสมาคมจะระบุชัดเจนว่า หลังเสียชีวิตสมาคมจะจ่ายเงินให้ภายใน 90 วัน” นายบุญร่วม กล่าว

นายบุญร่วม กล่าวต่อว่า สมาคมจะเก็บเงินจากสมาชิกศพละ 20 บาท ผู้สมัครเข้ามาจะต้องจ่ายค่าศพล่วงหน้า 80 ศพ คิดเป็นเงิน 1,600 บาท แต่ละสมาชิก แต่ปรากฏว่าในช่วงหลัง มีสมาชิกเสียชีวิตเกินกว่า 80 ศพในแต่ละปี ซึ่งปีนี้มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 102 ศพ ทำให้เงินที่เก็บล่วงหน้าขาดไปอีก 22 ศพ ซึ่งขณะนี้ประชุมสมาคมว่าจะขอเก็บเงินสมทบล่วงหน้าให้เป็น 100 ศพแล้ว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2546-2562 ยังไม่เคยติดค้างเงินค่าปลงศพแม้แต่รายเดียว ครั้งนี้ถือเป็นศพแรกที่ค้างชำระ แต่ยืนยันว่าจะได้เงินครบถ้วนทั้งหมดอย่างแน่นอน และหลังจากนี้จะปรับปรุงระบบของสมาคม ไม่ให้ติดขัดในลักษณะนี้อีก การออกมาเรียกร้องในครั้งนี้สมาชิกอาจจะขาดความเข้าใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน