ชาวนากุ้งราชบุรีสุดช้ำ กำลังจับกุ้งขาย จู่ๆ ลูกค้ายกเลิกออร์เดอร์กลางคัน บอกไม่มีตลาดขาย ผวาพิษโควิด ส่อเจ๊งกว่า 3 ล้านบาท

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

วันที่ 21 ธ.ค.63 หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดเผยข้อมูลว่า มีคนไทยและแรงงานข้ามชาติ จำนวนมากกว่า 600 คน ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยพบผู้ติดเชื้อรายแรกที่ตลาดกลางกุ้ง ในพื้นที่ ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมา

จากปัญหาดังกล่าวได้สร้างผลกระทบให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ใน จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้ง ทั้งสายพันธ์กุ้งก้ามกราม และกุ้งขาวแวนนาไมที่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ มีการถูกยกเลิกคำสั่งซื้อทั้งหมด

นายชัยประชา ขวัญพราย อายุ 30 ปี ชาว ต.โพหัก อ.บางแพ จ.ราชบุรี หนึ่งในเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เปิดเผยว่า ครอบครัวของตนทำอาชีพเลี้ยงกุ้งมาแล้วกว่า 40 ปี มีเนื้อที่รวมกว่า 100 ไร่ จำนวนกว่า 20 บ่อ ในการเลี้ยงกุ้งเกษตรกรจะวางแผนเพื่อให้ผลผลิตกุ้งที่จับออกขายในทุกรอบ 4 เดือน ตรงกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค ทำให้มีราคาดี

โดยเฉพาะช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่จะถึงนี้ ที่ประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ร้านค้า ร้านอาหาร และผู้คนต่างจับจ่ายใช้สอยเพื่อเฉลิมฉลอง ในช่วงสัปดาห์ก่อนสิ้นปีจึงเป็นช่วงเวลาทองและความหวังของเกษตรกรที่จะพอเห็นผลกำไรบ้าง แต่ก็ต้องมาประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ตลาดกลางกุ้ง ใน จ.สมุทรสาคร

นายชัยประชา กล่าวต่อว่า ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ตนพร้อมคนงานได้ช่วยกันดูดน้ำจนเกือบหมดบ่อเพื่อเตรียมจับกุ้ง แต่ระหว่างนั้นพ่อค้าที่เคยตกลงซื้อขายกัน ได้โทรศัพท์เข้ามาแจ้งว่าขอยกเลิกออเดอร์ทั้งหมด เพราะไม่มีตลาดที่จะส่งขายต่อได้ ทำให้ตนและคนงานต้องสูบน้ำกลับเข้าบ่ออีกครั้ง เพื่อเลี้ยงกุ้งต่อไป และรอคำสั่งซื้อครั้งใหม่

แม้จะมีความเสี่ยงกับปัญหาการน็อคน้ำของกุ้ง ในขณะเดียวกันก็ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และหากต้องยืดอายุการเลี้ยงกุ้งที่ครบกำหนดอายุ 4 เดือน ออกไปอีกแค่ 1 เดือน กุ้งน้ำหนักรวมกว่า 40 ตัน เหล่านี้ก็จะตายตามอายุขัยในที่สุด เงินลงทุนกว่า 150,000 บาทต่อบ่อ ซึ่งตนมีอยู่กว่า 20 บ่อ นั่นหมายถึงตนจะขาดทุนกว่า 3 ล้านบาท

และจากการพูดคุยกับเพื่อนเกษตรกรคนอื่นๆ ทุกคนก็กำลังกับประสบปัญหาพ่อค้าคนกลางยกเลิกคำสั่งซื้อ เนื่องจากผู้บริโภคขาดความมั่นใจเช่นเดียวกัน แม้ว่าทุกคนจะพยายามหาช่องทางซื้อขายผ่านทางออนไลน์ หรือนำมาแปรรูปจำหน่าย แต่ก็ทำได้ไม่มากนัก

ซึ่งเพื่อนเกษตรกรทุกคนกำลังหวาดวิตกว่า หากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่ลงมาให้ความช่วยเหลือ หรือสนับสนุนค่าใช้จ่ายในเรื่องของต้นทุน เกษตรกรหลายรายคงต้องล้มหายตายจาก และนั้นหมายถึงรายได้ของประเทศก็จะลดลงตามไปด้วย โดยแนวทางการแก้ปัญหาในระยะสั้น ตนอยากให้หน่วยงานได้ดำเนินการจัดหาตลาด หรือช่องทางระบายผลผลิตกุ้ง สำหรับระยะยาว ตนอยากให้ภาครัฐมีการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า หรือตลาดกลางกุ้งขึ้นในพื้นที่ อ.บางแพ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงสินค้าเกษตรจากผู้ผลิตได้โดยตรง ทั้งนี้ตนเองเชื่อว่าจะสามารถเรียกความมั่นใจของผู้บริโภคกลับคืนมาได้ และอยากให้ผู้บริโภคมั่นใจในตัวเกษตรกร เพราะเกษตรกรไม่ได้ไปอยู่ในจุดเสี่ยงของการแพร่ระบาด

ทั้งนี้ จากข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 ของสำนักงานประมงจังหวัดราชบุรี ปี 2563 มีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทั้งจังหวัดที่ขึ้นทะเบียน จำนวน 1,219 ฟาร์ม เนื้อที่เลี้ยงทั้งหมดกว่า 21,080 ไร่ มีแบ่งเป็น กุ้งขาวแวนนาไม ได้ผลผลิต 6,451 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 741 ล้านบาท และ กุ้งก้ามกราม ได้ผลผลิต 2,641 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 647 ล้านบาท โดยร้อยละ 80 ของกุ้งขาวแวนนาไม จะส่งเข้าตลาดกลางกุ้ง ใน จ.สมุทรสาคร และอีกร้อยละ 20 ส่งจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป ส่วน กุ้งก้ามกราม จะส่งเข้าตลาดกลางกุ้ง ใน จ.สมุทรสาคร ร้อยละ 20 และอีกร้อยละ 80 จะส่งตามร้านอาหารและตลาดทั่วประเทศ

ทั้งนี้ หากท่านใดสนใจกุ้งขาวแวนนาไมและกุ้งก้ามกราม สดๆ จากบ่อของเกษตรกรโดยตรง สามารถติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก “ขายส่งกุ้งก้ามกราม กุ้งขาว สดๆเป็นๆจากบ่อ” หรือ โทรศัพท์ 085-144-9594 และ 080-965-3091

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน