โควิดพ่นพิษ โรงแรมเลิกจ้างพนักงานฟ้าผ่า แต่ยังไม่ได้รับเงินชดเชยตามกำหนด แถมขอผ่อนจ่าย พนักงานโอดเดือดร้อนหนัก รวมตัวร้องขอความเป็นธรรม
เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
วันที่ 25 ม.ค. 64 อดีตพนักงานลูกจ้างโรงแรม กว่า 19 คน เดินทางมาที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ตรัง โดยบางรายหอบลูกน้อยมาด้วย เพื่อร้องเรียนและเรียกร้องขอความเป็นธรรมหลังโรงแรม เลิกจ้างพนักงานในกลุ่มแรกไปกว่า 19 ชีวิต โดยให้เหตุผลตามหนังสือการเลิกจ้างว่า
เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจมีความจำเป็นต้องลดต้นทุนค่าใช้จ่าย จึงจำเป็นพิจารณาเลิกจ้างพนักงานในโครงการการลดต้นทุนโดยปฎิบัติตามระเบียบข้อบังคับบริษัทฯ เรื่องการเลิกจ้างและจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานในการชดเชยให้ต่อไป
ทางบริษัท ได้มีการพูดคุยว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้เป็นงวดตามอายุงานของพนักงานแต่ละราย ซึ่งอายุงานมากสุดในครั้งนี้คือ 27 ปี และอายุงานน้อยสุดคือ 1 ปี ซึ่งจะจ่ายให้ระยะยาวประมาณ 3 ปี เฉลี่ยตกอยู่เดือนละ 2,000 บาท ซึ่งทางพนักงานบางส่วนไม่เห็นด้วยและรับไม่ได้กับข้อเสนอดังกล่าว จึงพูดคุยกับทางบริษัท แต่กลับไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน และคล้ายจะยื้อเวลา พร้อมกันนั้นยังไม่ได้รับเงินค่าชดเชย
จึงเดินทางมาทำการร้องเรียนขอความเป็นธรรมตามกระบวนการกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยในวันนี้มี น.ส.ชฎาณัฎฐ์ สุขสวัสดิ์ นิติกรปฎิบัติการเป็นผู้รับเรื่อง พร้อมทั้งให้กลุ่มลูกจ้างเขียนหนังสือยื่นคำร้อง
นายเมธี อายุ 53 ปี ตำแหน่งผู้จัดการภาคกลางคืน หนึ่งในผู้เดือดร้อน กล่าวว่า ที่เดินทางมาในวันนี้เป็นกลุ่มแรกที่ถูกเลิกจ้าง ซึ่งถูกเลิกจ้างมาตั้งแต่โควิดระบาดรอบแรก เดือนเมษายน 2563 ทำให้พวกเราได้รับสิทธิกินเบี้ยชดเชยของประกันสังคมอยู่ จนครบ 6 เดือน แล้วทางบริษัทจะเรียกตัวเข้าทำงานใหม่ แต่ปรากฏว่าเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา กลับมีหนังสือจากทางบริษัทมาพร้อมสัญญาเลิกจ้าง
โดยทางบริษัทแจ้งว่าจะชดเชยให้ตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ตามอายุงาน ซึ่งตนมีอายุงานมากที่สุดที่อยู่ในกลุ่มถูกเลิกจ้างครั้งนี้คือ 27 ปี ขณะนี้ก็ยังไม่ได้คำตอบอะไรจากทางบริษัทเลย เพียงแค่พูดว่าให้รอไปก่อน แต่พวกเรารอไม่ไหวเพราะต้องกินต้องใช้ในทุกวัน เพราะไม่ได้ทำงานมาตั้งแต่เดือนเมษายน เงินก็ไม่มีจะใช้ ก็อยากให้นายจ้างเขามาพูดคุยและจ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด
ด้าน น.ส.จารุวรรณ อายุ 36 ปี ตำแหน่งผู้ช่วยกุ๊ก หนึ่งในผู้เดือดร้อน กล่าวว่า อายุงานของตน 14 ปี 6 เดือน หลังจากถูกเลิกจ้างก็ได้กลับไปอยู่บ้าน ที่ผ่านมาก็ได้เดินทางมาพูดคุยกับทางบริษัทหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เงียบหาย ก็เลยรวมตัวกันมาในวันนี้ เพราะเรามีภาระค่าใช้จ่ายของตนเอง ลูกชายวัย 1 ขวบ และครอบครัวอีก ตกอยู่เดือนละ 15,000 บาท
ขณะนี้เงินที่ใช้จ่ายอยู่ก็มีเงินเก็บสะสมกับประกันสังคมที่ได้รับ แต่ก็เริ่มร่อยหรอไปทุกวัน แต่ถ้าได้เงินก้อนซึ่งเป็นเงินค่าชดเชยมา ก็สามารถที่จะนำไปขยายเพื่อหาช่องทางทำกินได้อีก มาถึงวันนี้ก็อยากจะให้นายจ้างจ่ายเงินให้ตามกำหนด อย่าทำเป็นระบบผ่อนจ่ายเลยเพราะเราก็มีภาระต้องจ่ายเยอะมาก ที่สำคัญคือลูกน้อย
ซึ่งมีการต่อรองแล้วแต่ทางบริษัทก็เงียบ ก็เลยมาใช้สิทธิตรงนี้ ตนก็เข้าใจทางบริษัทว่าประสบปัญหาความเดือดร้อน แต่เราก็ให้โอกาสมาหลายครั้งแล้ว ซึ่งการที่มาในวันนี้ก็มีความหวังกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ว่าสมารถจะช่วยได้
ขณะที่ นายสุรสิงห์ จุนณศักดิ์ศรี สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ตรัง กล่าวว่า หลังจากนี้ก็จะทำการเชิญนายจ้างมาพูดคุยเพื่อหาทางออกทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าพูดคุยกับแล้วไม่สามารถหาทางออกได้ ทางเราก็จะรับคำร้องตามที่กลุ่มลูกจ้างมายื่นในวันนี้ และเดินไปตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยการวินิฉัยออกคำสั่ง โดยตามกรอบรับคำร้องวินิฉัยระยะเวลาอยู่ที่ 60 วัน ขยายไปได้อีก 30 วัน แต่จะเร่งวินิฉัยให้ได้ภายใน 30 วัน เพื่อให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด
โดยจะพยายามให้ลูกจ้างอยู่ได้ นายจ้างอยู่ได้ เพราะในขณะนี้ทุกฝ่ายจะต้องเห็นใจซึ่งกันและกัน ซึ่งในส่วนของ จ.ตรัง โควอดรอบแรกที่ผ่านมามีลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนมาแล้ว 2-3 บริษัท เดือดร้อนกว่า 20-30 ชีวิต โดยส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทเกี่ยวกับการเดินทาง โรงแรม และการท่องเที่ยว และมองว่าแนวโน้มจะหนักขึ้นหากโควิด 19 ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง