วันที่ 21 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าทีมสัตว์แพทย์จาก สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ พร้อม คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสัตว์แพทย์จากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกันตรวจสอบอาการบาดเจ็บของช้างพลายสีดอ ที่ชาวบ้านตั้งชื่อว่า พลายชมภู ช้างป่าอายุประมาณ 15-20 ปี จาก อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ที่บาดเจ็บจากถูกน้ำป่าพัดลงจากเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง มาติดในคลองชมพู บ้านชมภู ม.3 ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก พบว่าช้างพยายามจะใช้ขาหน้าเพื่อลุกยืนขึ้นและส่ายงวงไปมาแต่ยังลุกขึ้นยืนไม่ได้ เนื่องจากขาหลังบาดเจ็บอยู่ โดยเจ้าหน้าที่ได้นำหญ้าแห้ง และกองทรายมารองไว้ที่ด้านท้ายของช้างเพื่อรองรับช่วงขาหลังที่อ่อนแรงเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดของช้าง

ผศ.น.สพ.ดร.วีรพงศ์ ตั้งจิตเจริญ สัตว์แพทย์จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการตรวจอาการของช้างตลอดทั้งวันพบว่าช้างไม่สามารถกระดิกหางได้และขาหลังก็ไม่สามารถใช้การได้ ส่วนการรับรู้ความรู้สึกก็จะอยู่บริเวณตั้งแต่ส่วนกลางของเอว จึงวินิจฉัยโดยทำอัลตาร์ซาวด์แทนการเอ็กซเรย์เนื่องจากช้างตัวใหญ่ พบว่าบริเวณไขสันหลังหรือกระดูกสันหลังอาจมีเลือดออก ส่วนแนวทางการรักษาหลังจากนี้ทางทีมสัตว์แพทย์จะได้ให้ยาเพื่อลดการอักเสบที่เกิดขึ้นในไขสันหลังแทนการผ่าตัด เพราะช้างตัวใหญ่ผ่าตัดไม่ได้อาจทำให้ช้างติดเชื้อ และไม่มีอุปกรณ์มาช่วยยึดและดามหลังช้างไม่ให้ช้างเคลื่อนหรือขยับได้ รวมถึงการพยุงอาการโดยการให้สารน้ำและดูแลเรื่องที่นอนเพื่อไม่ให้เกิดการเจ็บปวด

ด้าน น.สพ.ทวีโภค อังควานิช สัตวแพทย์ประจำสถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ กล่าวว่า เพื่อไม่ให้ช้างสีดอตัวนี้ซึ่งเป็นช้างป่าเกิดอาการเครียดไปมากกว่านี้ จึงเลือกสถานที่ใกล้เคียงกับที่เคยอยู่เดิมเพื่อให้ช้างได้ทำการปรับสภาพให้คุ้นชินซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา 2-3 วันเพื่อให้ช้างปรับสภาพร่างกายและสภาพแวดล้อมและลดอาการเครียด เมื่อคุ้นเคยแล้วก็จะได้ย้ายไปรักษาภายในโรงเรือนรักษาของโรงพยาบาลช้าง

ส่วน รศ.น.สพ.ดร.นิกร ทองทิพย์ สัตว์แพทย์จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า อาการของช้างป่าสีดอยังคงน่าเป็นห่วงซึ่งถือว่าเป็นอาการที่หนักมาก เพราะการบาดเจ็บที่ไขสันหลังถือว่ารักษาให้หายได้ยาก โดยเฉพาะช้างที่มีน้ำหนักตัวถึง 4,000 กิโลกรัม และเป็นช้างป่าซึ่งมีพฤติกรรมไม่เหมือนกับช้างเลี้ยงจึงไม่เชื่อง เลยทำให้ทีมสัตวแพทย์ต้องระมัดระวังตัวอยู่ตลอดเวลา และยังคงต้องประเมินอาการของช้างวันต่อวันในการให้ยารักษาดังกล่าว

ทั้งนี้อุปสรรคคืออุปกรณ์ในการรักษาเนื่องจากปกติจะไม่มีอุปกรณ์เฉพาะรักษาช้าง แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นจำเป็นต้องมีการดัดแปลงอุปกรณ์เครื่องมือใหม่ทั้งหมด อีกทั้งยังเป็นห่วงหากช้างนอนนานๆก็จะเป็นแผลกดทับซึ่งเกิดมีแผลก็จะทำให้ติดเชื้อและมีโรคแทรกซ้อนได้ โดยทีมสัตว์แพทย์ทุกคนจะพยายามทำการรักษาให้สุดความสามารถ แต่ก็ยอมรับว่าการรักษากระดูกสันหลังเป็นเรื่องยาก ซึ่งทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องก็จะยังบูรณาการทำงานร่วมกันต่อไปจนช้างจะมีอาการที่ดีขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน