กรณีพบซากกระทิงถูกยิงด้วยอาวุธปืน โดยเจ้าของไร่มันสำปะหลังรับสารภาพว่าเป็นคนยิงกระทิง อ้างเพราะป้องกันตัวภายในไร่บ้านท่าวังไทร ต.วังหมี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ในวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา และในวานนี้ (12 พ.ย.) พบซากกระทิง อีก 2 ตัว บริเวณป่าเขาแผงม้า อ.วังน้ำเขียว เป็นเพศผู้ อายุประมาณ 5 ปี สภาพเน่าเปื่อย เบื้องต้นไม่พบร่องรอยบาดแผล คาดว่าตายมาแล้วไม่ต่ำกว่า 7 วัน และซากกระทิง เพศเมีย อายุประมาณ 3 ปี สภาพเหลือแต่หนัง ส่วนขา 4 ขาถูกเชือดชำแหละ เอาเนื้อ และตัดส่วนหัวไป คาดถูกนายพรานล่ายิงจนตายก่อนชำแหละเนื้อและหัวไป ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกระทิงเสียชีวิตไปแล้ว 3 ตัวนั้น

เมื่อวันที่ 13 พ.ย. นายกิตติศักดิ์ ศรีปัดถา หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ (สบอ.) 7 นครราชสีมา พร้อมพนักงานสอบสวน สภ.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา และนายสัตวแพทย์ สบอ. 7 ฯ ร่วมตรวจสอบซากกระทิง 2 ตัว ที่บ้านเขาแผงม้า หมู่ 4 ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา จากนั้นได้เคลื่อนย้ายซากกระทิงไปที่เขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพื่อตรวจสอบพิสูจน์หลักฐานและหาสาเหตุการตาย และได้จัดการซากตามหลักวิชาการ โดยใช้รถแบ๊กโฮขุดหลุมเพื่อฝังกลบ โดยที่เกิดเหตุอยู่ห่างจากรีสอร์ทบ้านไร่แสงจันทร์ โฮมสเตย์ ประมาณ 100 เมตร พื้นที่รอยต่อผืนป่ามรดกโลก ดงพญาเย็น เขาใหญ่ บริเวณจุดพิกัด 47P 0804211 UTM 15905548 ซากกระทิงตัวแรกมีเพียงหนังและกระดูกขา ลักษณะโดนชำแหละ ซากกระทิงตัวที่สองนอนตายที่ร่องน้ำ ห่างจากตัวแรกประมาณ 45 เมตร จุดพิกัด 47P 0804262 UTM 1590527 ตรวจสอบกระทิงตัวที่สองไม่พบร่องรอยกระสุนปืน หรือร่องรอยถูกทำร้าย

จากการสอบถามเจ้าของรีสอร์ท ระบุมักจะมีกระทิงเข้ามาหากินตามลำห้วยท้ายรีสอร์ทเป็นประจำ ซึ่งกระทิงไม่ได้สร้างผลกระทบหรือความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้างแต่อย่างใด อีกทั้งรีสอร์ท ยังได้ประโยชน์สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพัก เพื่อส่องดูกระทิงในระยะค่อนข้างใกล้ชิด ส่วนการลักลอบล่าสัตว์ พยานแวดล้อมซึ่งเป็นผู้นำชุมชน ให้ข้อมูลว่าบริเวณรอบๆรีสอร์ท มีไร่ข้าวโพด ช่วงกลางคืนจะมีกระทิงลงมากินข้างโพดเป็นประจำ เจ้าของไร่ต้องจุดประทัดไล่ จึงไม่สามารถแยกเสียงประทัดกับเสียงปืนได้ อีกทั้งไม่พบการลักลอบขนย้ายเนื้อกระทิงผ่านพื้นที่ ส่วนพฤติการณ์การล่าสัตว์ป่า สันนิษฐานน่าจะเป็นคนนอกจากพื้นที่หรือคนในพื้นที่ใกล้เคียงที่ไปทำงานที่อื่น เมื่อกลับมาภูมิลำเนาเดิมชักชวนเพื่อนๆออกหาเนื้อสัตว์ป่ามากิน ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานและใช้ฐานข้อมูลกลุ่มบุคคลต้องสงสัย เพื่อติดตามตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ด้าน พ.ต.อ มีชัย กำเนิดพรม ผกก.สภ.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เปิดเผยผลการตรวจสอบหาสาเหตุการตายของกระทิงตาย 2 ตัว ซึ่งพบในพื้นที่บ้านเขาแผงม้า หมู่ 4 ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ว่า นสพ.ระบุทั้งสองตัวเสียชีวิตมาไม่ต่ำกว่า 7 วัน จึงมีสภาพเน่าเปื่อยส่งกลิ่นเหม็น ตัวแรกเป็นเพศเมีย อายุประมาณ 2 ปี น้ำหนักตัวไม่เกิน 400 กิโลกรัม ถูกชำแหละนำเศษชิ้นส่วนออกไป จึงพบเพียงซากหนังและชิ้นส่วนขา กระทิงตัวที่สองเป็นเพศผู้ อายุ 10 ปี น้ำหนัก 800 กิโลกรัม ผ่าชันสูตรมีเลือดคั่งในช่องอก ปอดและหลอดลมฉีกขาด แต่ไม่สามารถยืนยันสาเหตุการตายและไม่พบร่องรอยพยาน หลักฐานเกี่ยวกับการถูกประกอบเหตุแต่อย่างใด นอกจากนี้ได้เข้าตรวจค้นเป้าหมาย 3 จุด บ้านพักของกลุ่มบุคคลเป้าหมายที่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการลักลอบล่าสัตว์แต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย อยู่ระหว่างนำตัวมาสอบสวนเพิ่มเติม

วันเดียวกัน ที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ต.อุดมทรัพย์ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหากระทิงป่าถูกฆ่า โดยมีตัวแทนจากหลายหน่วยงานผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ นายมุรธาธีย์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, นายอภิชาต ธนมัย นายอำเภอวังน้ำเขียว, นายกิตติศักดิ์ ศรีปัดถา หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า, นายสุเมธ อำภรณ์ ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.นครราชสีมา, นายฐากร ล้อมศตพร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7, พ.ต.อ.มีชัย กำเนิดพรม ผกก.สภ.วังน้ำเขียว และเจ้าหน้าที่ป่าเขาภูหลวง

ทั้งนี้ภายหลังจากที่ได้เกิดเหตุการณ์พบกระทิงป่าถูกฆ่าตายถึง 3 ตัว ภายใน 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในที่ประชุมได้หยิบเรื่องดังกล่าวมาถกปัญหา และพบว่าปัญหาการเผชิญหน้าระหว่างชาวบ้านกับกระทิงป่า เริ่มมีมากขึ้นทุกปี โดยนายกิตติศักดิ์ เปิดเผยว่า แต่เดิมเมื่อปี 2537 มีการสำรวจพบว่า กระทิงป่าในเขตป่าเขาแผงม้า มีเพียง 7-8 ตัวเท่านั้น แต่ปัจจุบันผ่านมา 23 ปี ด้วยความอุดมสมบูรณ์ ทั้งอาหาร และการเป็นอยู่ ทำให้กระทิงป่าเพิ่มจำนวนประชากรขึ้นมา 250–300 ตัว ทำให้พื้นที่ป่าเขาแผงม้า ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 5,000 ไร่ มีฝูงกระทิงออกหากินอยู่เกือบเต็มพื้นที่ และเมื่อเกิดการแย่งจ่าฝูงขึ้น ทำให้กระทิงบางตัวถูกขับออกจากฝูง ไปหากินนอกเขตห้ามล่าสัตว์ป่า โดยออกไปหากินในพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านที่อยู่รอบนอกป่าอนุรักษ์ จึงก่อให้เกิดเหตุการณ์เผชิญหน้าระหว่างชาวบ้านและกระทิงป่าเพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบันพบว่ากระทิงป่าออกมาไกลถึงป่าเขาภูหลวงแล้ว ซึ่งที่ผ่านมามีแนวทางแก้ปัญหาเพียงการขับไล่ และทำความเข้าใจกับประชาชน ให้ช่วยกันอนุรักษ์สัตว์ป่าไว้เท่านั้น

ทั้งนี้ภายหลังจากใช้เวลาหารือกันกว่า 2 ชั่วโมง นายวิเชียร พร้อมคณะทั้งหมด เดินทางไปบริเวณข้างไร่ข้าวโพด บ้านเขาแผงม้า ม.4 ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา จุดที่พบซากกระทิงป่าขนาดใหญ่ 2 ตัวถูกฆ่าตาย โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าเขาแผงม้า ติดกับไร่ข้าวโพดที่ชาวบ้านปลูกไว้ มีลำธารกั้นอยู่ระหว่างป่ากับไร่ข้าวโพด คาดว่ากระทิงป่า 2 ตัวจะข้ามมากินพืชผลการเกษตรของชาวบ้าน จนเกิดการเผชิญหน้าและทำร้ายกระทิงจนตายได้ โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ทำการฝังซากกระทิงป่าทั้ง 2 ตัวไว้บริเวณใกล้เคียงแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างสืบหาผู้ที่ทำร้ายกระทิงจนตายมาดำเนินคดีตามกฎหมาย เนื่องจากกระทิงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

นายวิเชียร กล่าวว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาการเผชิญหน้าระหว่างกระทิงป่ากับชาวบ้าน ไม่ใช่ปัญหาขบวนการล่าสัตว์ป่าแต่อย่างใด เนื่องจากที่ผ่านมากระทิงป่าได้เพิ่มจำนวนประชากรมากขึ้น และได้ขยายอาณาเขตการหากินออกมาจนถึงพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาระยะสั้นคือ จะจัดเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ลงพื้นที่ทำความเข้าใจ และขอให้ชาวบ้านช่วยดูแลรักษาชีวิตสัตว์ป่า ส่วนความเสียหายของพืชผลการเกษตรนั้น จังหวัดพร้อมจะจัดสรรงบประมาณไปให้ช่วยเหลือเยียวยาได้ โดยตนจะให้นายอำเภอวังน้ำเขียว นายอำเภอปากช่อง และนายอำเภอปักธงชัย ลงพื้นที่ไปชี้แจงให้ประชาชนในทุกหมู่บ้าน ที่อยู่แนวเขตติดกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ป่าอนุรักษ์ และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งเสี่ยงที่จะมีสัตว์ป่าลงมาทำลายพืชผลทางการเกษตร ว่าขอให้ปล่อยชีวิตสัตว์ป่าไป ส่วนความเสียหายทางหน่วยงานรัฐจะจ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้

นายวิเชียร กล่าวต่อว่า การจะแก้ปัญหาไม่ให้สัตว์ป่าลงมาทำลายพืชผลการเกษตรอย่างเด็ดขาดนั้น คงทำได้ยาก เพราะเขตแดนของอุทยานแห่งชาติ และป่าอนุรักษ์ มีเขตแดนยาวหลายร้อยกิโลเมตร สิ่งที่ทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกันวันนี้ ก็วางแผนแก้ไขปัญหาระยะยาวไว้ว่า จะต้องแก้ไขด้วยการต้อนกระทิงป่าบางส่วนจากเขาแผงม้า ให้ออกไปหากินในพื้นที่ป่าภูหลวง ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากป่าเขาแผงม้าประมาณ 8 กิโลเมตร เนื่องจากป่าภูหลวง มีพื้นที่กว้างขวางถึงกว่า 170,000 ไร่ ติด 3 อำเภอ ได้แก่ อ.ปากช่อง, อ.วังน้ำเขียว และ อ.ปักธงชัย แต่ปัญหาคือการเคลื่อนย้ายกระทิงทั้ง 200-300 ตัว ถ้าใช้การยิงยาสลบเคลื่อนย้ายไปจะลำบากมาก ดังนั้นการต้อนกระทิงไปจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แต่ระยะทาง 8 กิโลเมตร พื้นที่เชื่อมต่อจะเป็นพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน ดังนั้นถ้าหากจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการซื้อผลผลิตการเกษตรตามแนวเชื่อมต่อ ให้เป็นอาหารกระทิงในระหว่างต้อนไปป่าภูหลวง ก็จะมีโอกาสสูงที่จะสามารถต้อนฝูงกระทิงป่าให้ออกไปอยู่ในพื้นที่เขตป่าภูหลวงได้ในอนาคต

ขณะที่ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ขณะนี้ได้ประสานงานขอกำลังจากทหารเพื่อเรียกนายพรานในพื้นที่มาสอบเค้นตามหานายพรานที่ล่ากระทิง ซึ่งเชื่อว่าจะได้ข้อมูลที่กระชับใกล้ตัวผู้กระทำผิดมากขึ้น ทั้งนี้เมื่อดูจากการล่ากระทิงที่ชำแหละเนื้อ เครื่องใน และตัดหัวไปนั้น คาดว่าไม่ใช่ฝีมือของชาวบ้าน แต่น่าจะมีออเดอร์จากต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นขบวนการล่ากระทิงหรือไม่นั้น ต้องรอผลการสืบสวนจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารที่ชัดเจนอีกครั้ง

นายธัญญา กล่าวต่อว่า ส่วนการผ่าพิสูจน์ซากกระทิง ทางทีมสัตวแพทย์แจ้งว่า ตัวแรกเป็นเพศผู้ น้ำหนักประมาณ 1 ตัน อายุประมาณ 10 ปี พบร่องรอยคล้ายถูกยิงบริเวณหน้าอกทะลุด้านหลัง ทำให้หลอดลมและปอดฉีกขาด มีน้ำท่วมในปอด แต่ไม่พบหัวกระสุน เบื้องต้นสันนิษฐานว่ากระทิงถูกยิงด้วยอาวุธปืน แต่ไม่เสียชีวิตทันทีจึงหลบหนีเข้าป่าและล้มลงบริเวณที่พบซาก คาดตายมาแล้วไม่ต่ำกว่า 7 วัน ส่วนกระทิงอีกตัว เป็นเพศเมีย น้ำหนักประมาณ 500 กก.ได้ถูกคนร้ายแล่ชำแหละเอาเนื้อ และเครื่องใน ส่วนหัวก็ถูกตัดไปด้วย โดยซากกระทิงทั้งสองตัวอยู่ห่างกันประมาณ 20 กิโลเมตร ทั้งนี้หลังผ่าพิสูจน์เจ้าหน้าที่ได้ขุดหลุมฝังกลบซากกระทิงทั้งสองตัว และพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณหลุมฝังกลบกระทิง

อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า ทั้งนี้การสืบสวนหาผู้กระทำผิด ตนได้มอบหมายให้นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานฯ เข้าหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากในพื้นที่พบปลอกกระสุนปืน ก็จะสามารถรู้ข้อมูลในเชิงลึกมากขึ้น เพราะนายพรานแต่ละพื้นที่ใช้กระสุนปืนไม่เหมือนกัน ส่วนมาตรการในการป้องกันไม่ให้สัตว์ป่าออกมาหากินในพื้นที่เกษตรกรรมในระยะยาวนั้น เบื้องต้นกรมอุทยานฯ จะร่วมหารือกับชาวบ้านและหน่วยงานในพื้นที่เพื่อหาวิธีป้องกันร่วมกัน พร้อมทั้งได้ดำเนินการปลูกไผ่หนามไว้ในบางพื้นที่แล้ว แต่จะให้ไปสำรวจพื้นที่ถึงลำดับความสำคัญว่าควรปลูกไผ่หนามป้องกันในพื้นที่เสี่ยงก่อน เพื่อไม่ให้กระทิงออกมานอกเขตป่า

 

ขอบคุณภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน