พล.ต.อ.วิสนุ จตช. ย้ำ คลิป พ.ต.ท.เต้น ฝ่าฝืนข้อห้ามทำ ในโซเชียล ย้ำตำรวจอย่าลืม 9 ข้อห้าม รอผลสอบผู้บังคับบัญชา ปล่อยปะละเลยหรือไม่

วันที่ 20 เม.ย. 2564 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จตช. เปิดเผยกรณีคลิปตำรวจแต่งเครื่องแบบเต้นล้อเลียนนักร้องประเทศเพื่อนบ้าน เผยแพร่ปรากฏทางสื่อแขนงต่าง ๆ จนเป็นที่วิจารณ์ถึงความเหมาะสมจากสังคม

โดยพล.ต.อ.วิสนุ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร ได้สั่งการให้ จตช. ติดตามดำเนินการกรณีดังกล่าว โดยเบื้องต้น ทราบว่าตำรวจดังกล่าวคือพ.ต.ท.อรรคพล ยี่เกาะ สว.กก.สส.ภ.จว.อุดรธานี แต่งกายเครื่องแบบพ.ต.ท. ติดห่วงโซ่คล้องจมูก เต้นเลียนแบบเพลงนักร้องประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังเป็นกระแส เผยแพร่ทางแอพลิเคชั่น และสื่อโซเชียลต่าง ๆ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม และตลกขบขัน

ซึ่งการกระทำดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนข้อสั่งการ ทั้งที่ ผบ.ตร. และ จตช. เพิ่งสั่งการในที่ประชุมบริหาร ตร. เมื่อเดือน มี.ค. 64 และ ผบ.ตร มีหนังสือ เมื่อ 2 เม.ย. 64 สั่งการกำชับ ทุกหน่วยให้ ชี้แจง กำชับ ตำรวจในสังกัด ให้ศึกษาและยึดแนวทางปฏิบัติการใช้สื่อสังคมออนไลน์ 9 ข้อห้าม และ 5 ข้อที่ควรทำ ตามวีดีทัศน์คู่มือแนวทางการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของข้าราชการตำรวจ

ซึ่งจัดทำโดยคณะทำงานของ ตร. ซึ่ง ผบ.ตร.ได้แถลงข่าวเปิดตัวไปเมื่อ 11 มี.ค. 64 รวมถึงก่อนหน้านั้น จตช. ก็เคยมีหนังสือสั่งการไว้ ตั้งแต่ 4 พ.ย. 63 ย้ำชัดให้กวดขัน ระมัดระวัง การแสดงออกในสื่อโซเชียล เช่น Tiktok Facebook Twitter เป็นต้น แต่ก็ยังมีการฝ่าฝืน

ซึ่งต้องตรวจสอบว่าผู้บังคับบัญชาได้ชี้แจง กำชับตามที่ ผบ.ตร และ จตช. ได้สั่งการไว้อย่างไร หรือ ชี้แจงทำความเข้าใจดีแล้ว แต่ตัวผู้ปฏิบัติ ไม่สนใจ หรือมีเจตนาฝ่าฝืนอย่างไร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ ภ.จว.อุดรธานี

พล.ต.อ.วิสนุ กล่าวอีกว่า ฝากย้ำเตือนข้าราชการตำรวจ ให้ทบทวน แนวทางการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ที่สั่งการไปแล้ว โดยมีทั้งเรื่องที่ควรจะทำ 5 ข้อ และ เรื่องที่เป็นข้อห้ามโดยประเภทข้อมูลข่าวสารที่ไม่ควรเผยแพร่ในรูปแบบข้อความ รูปภาพ หรือภาพเคลื่อนไหว 9 ข้อ คือ








Advertisement

1.ข้อมูลที่มีเนื้อหาพาดพิง หรือส่งในทางลบต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.ข้อมูลที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ หรือกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
3.ข้อมูลที่มีลักษณะยั่วยุ เสียดสี บิดเบือนโฆษณา ชวนเชื่อ สร้างความแตกแยกต่อหน่วยงาน องค์กร สถาบัน สังคม รวมถึงการไม่เป็นกลางทางการเมือง
4.ข้อมูลความลับของทางราชการ ตามระเบียบการตำรวจที่กำหนดไว้

5.ข้อมูลที่เข้าข่ายการกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารทั้งของราชการและบุคคล รวมถึงการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและกฎหมายอาญาใดๆ เช่น ภาพลามก อนาจาร เป็นต้น

6.ข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อน้ำหนักความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานทางคดี เกิดผลเสียต่อกระบวนการยุติธรรม รวมถึงส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติภารกิจที่มีความเสี่ยงในเชิงยุทธวิธีและยุทธการ
7.ข้อมูลที่สร้างกระแสทางสังคม หรือก่อให้เกิดความตื่นตกใจโดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และไม่มีหลักฐานยืนยัน

8.ข้อมูลที่เป็นภัยคุกคามต่อระบบสารสนเทศ และเครือข่าย ได้แก่ โปรแกรมไม่พึงประสงค์ หรือ Malware ทุกประเภท
9.ข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์อันดีของความเป็นข้าราชการตำรวจ ก่อให้เกิดความขบขัน วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบ ลดความเชื่อมั่น ศรัทธาต่องานตำรวจ ทั้งที่เป็นปัจเจกบุคคล และองค์กรตำรวจโดยรวม ซึ่งการกระทำของ พ.ต.ท.อรรคพลฯ จะเข้าลักษณะการฝ่าฝืนในข้อ 9 นี้

สำหรับข้อห้ามดังกล่าว ผู้สื่อข่าวถามว่า ถือเป็นการจำกัดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ ทางพล.ต.อ.วิสนุ กล่าวว่า ทางพล.ต.อ.สุวัฒน์ เคยย้ำชัดว่า การเป็นข้าราชการตำรวจนั้น นอกจาก “สิทธิส่วนบุคคล” แล้วยังมีคำว่า “หน้าที่ความรับผิดชอบ” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งต้องให้ความสำคัญทั้ง 2 เรื่อง ในน้ำหนักที่เท่ากัน

และคิดก่อนทำว่า ทำแล้ว เป็นประโยชน์ต่อทางราชการ หน่วยงาน องค์กร หรือสังคมอย่างไร ซึ่งในแนวทางการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ก็ระบุสิ่งที่ทำแล้ว เป็นเรื่องสร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ไว้ 5 ข้อ ให้ตำรวจทุกนายกลับไปทบทวนดู

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน