ศรชล.ภ.3 ร่วมกับสถาบันวิจัยอวกาศฯ เก็บกู้ถังเชื้อเพลิง กระสวยอวกาศ ใกล้เกาะแอลภูเก็ต ส่งมอบให้สถาบันวิจัยอวกาศฯ นำไปจัดแสดง

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2564 ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 หรือ ศรชล. ภาค 3 เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 64 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ศรชล.ภาค 3 ได้รับแจ้งจากชาวประมงพื้นบ้านว่าพบวัตถุต้องสงสัยคล้ายวัตถุระเบิดบริเวณเกาะแอล จ.ภูเก็ต

จึงประสานได้กับ ทัพเรือภาค 3 (ทรภ.3) ขอสนับสนุน จนท. EOD ชุดปฏิบัติการพิเศษ (ชปพ.) หน่วยรักษาความปลอดภัยทางทะเล กองทัพเรือ เกาะภูเก็ต (นรภ.ทร.) และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมตรวจสอบวัตถุต้องสงสัย ร่วมกับหมวดเรือเฉพาะกิจ ศรชล.ภาค 3 และชาวประมงผู้พบเพื่อยืนยันจุด

เบื้องต้น จนท. EOD ได้ทำการตรวจสอบ พบว่า วัตถุดังกล่าวมีลักษณะเป็นโลหะทรงกลม (คล้ายลูกนิมิต) เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 70 ซม. และยืนยันว่าไม่ใช่วัตถุระเบิด และไม่มีสารพิษ จึงได้ดำเนินการตรวจสอบโดยละเอียดกับทางเจ้าหน้าที่กรมสรรพาวุธทหารเรือ ซึ่งข้อมูลที่ได้รับมาคาดว่าจะเป็นชิ้นส่วนของกระสวยหรือจรวดอวกาศ

ต่อมา ศรชล.ภาค 3 จึงได้ประสานงานกับสถาบันวิจัยอวกาศ และภูมิสารสนเทศ (GITSDA) ตรวจสอบภาพถ่ายอีกครั้ง ผลที่ได้รับตรงกันคือ ทั้งสองหน่วยงาน ยืนยันว่า วัตถุดังกล่าวเป็นชิ้นส่วนของถังเชื้อเพลิงของ จรวดหรือกระสวยที่ใช้ส่งไปยังอวกาศ แล้วจะถูกสลัดทิ้งออกเป็นช่วงในการส่งขึ้น ซึ่งรายละเอียดทางผู้เชี่ยวชาญของ GISTDA จะตรวจสอบต่อไป

ต่อมาวันที่ 12 พ.ค. 64 ทาง ศรชล.ภาค 3 จึงทำหนังสือขอให้ทาง GISTDA ส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมวางแผนการเก็บกู้ ร่วมกับ ศรชล.ภาค 3 และ ทรภ.3 ในช่วงระหว่าง 16 – 18 พ.ค.64 ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จในวันนี้ (17 พ.ค.64)








Advertisement

จากการตรวจสอบโดยละเอียดจากผู้เชี่ยวชาญของ GISTDA และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในเรื่องของสารไฮดราซีนที่เป็นเชื้อเพลิงที่บรรจุในถังน่าจะถูกใช้งานจนหมดเรียบร้อย ประกอบกับการตรวจสอบพื้นที่โดยรอบจุดที่พบ สภาพแวดล้อมทางทะเลปกติมีสัตว์น้ำ ปะการัง หอยเม่น ซึ่งเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งที่ทำให้มั่นใจได้ว่าวัตถุดังกล่าว ไม่ได้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด

สำหรับการดำเนินการต่อไป หลังจากตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญโดยละเอียด ศรชล.ภาค 3 จะทำการส่งมอบวัตถุดังกล่าวฯ นี้ให้กับ GISTDA ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เพื่อใช้ในการศึกษาวิจัย นำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีทางอวกาศของประเทศไทยในอนาคต หลังจากนั้น จะนำไปแสดงในพิพิธภัณฑ์อวกาศของ GISTDA เพื่อให้ประชาชนได้ชมต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน