ผู้เลี้ยงโคผวา โรคลัมปี สกิน ระบาดในวัวกว่า 50 ตัว เกษรอำนาจเจริญชี้ เกิดจากเชื้อไวรัส มีแมลงดูดเลือดเป็นพาหะ

เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า วัวที่เลี้ยงไว้พากันป่วยเป็นโรคระบาดจำนวนมาก ที่บ้านกุดปลาดุก ต.กุดปลาดุก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ลักษณะคล้ายเป็นโรคผิวหนัง เป็นจุดทั่วทั้งลำตัว มีน้ำลายยืดเป็นฟอง มีไข้ ขาทั้ง 4 ข้างอ่อนแรง ไม่ยอมกินอาหารและน้ำ

ซึ่งตอนนี้หมู่บ้านปลาค้าวมีวัวที่เป็นโรคแบบนี้รวมกันแล้ว ประมาณ 50 ตัว วอนปศุสัตว์จังหวัดอำนาจเจริญ หรือผู้ที่มีความรู้เข้าช่วยเหลือให้คำแนะนำเกษตรกรในการป้องกันดังกล่าว

นายอมรเทพ บุญเรือง เกษตรกรผู้เลี้ยงวัว บ้านกุดปลาดุก เล่าว่า ตนเลี้ยงวันทั้งหมด 10 ตัว เป็นพันธ์ลูกผสม และเพิ่งป่วยเป็นโรคลักษณะนี้มาแล้ว 1 อาทิตย์ แต่ของชาวบ้านในหมู่บ้าน พากันติดกันเป็นจำนวนมาก รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ตัว

ซึ่งอาการแรกๆ จะขึ้นเป็นตุ่มและลุกลามไปทั่วตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งตนไม่เคยพบเจอโรคแบบนี้มาก่อน ทีแรกชาวบ้านพากันคิดว่าเป็นตุ่มไม่นานก็คงหายเป็นปกติ แต่ต่อมามีการกระบาดลุกลามไปยังวัวตัวอื่นๆ จึงรู้สึกตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ตนพยามแยกวัวออกจากลุ่มอื่นๆ ของชาวบ้าน แต่โรคระบาดก็ยังลุกลาม มาที่คอกวัวของตน พอเกิดโรคดังกล่าวขึ้นตนก็ไม่รู้จะช่วยเหลือได้อย่างไร วัวที่เป็นโรคนั่นมักจะเป็นวัวที่มีอายุ 5 เดือน ถึง 1 ปี ส่วนวัวที่อายุมากแล้วก็มีโอกาสติดแล้วตายได้เหมือนกัน มันขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของวัวแต่ละตัว

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายหมู่บ้านในเขตอำเภอเมืองที่วัวเป็นโรคลักษณะเดียวกันนี้ รวมๆ ทั้งอำเภอเมืองไม่ต่ำกว่า 50 ตัว

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปที่ปศุสัตว์จังหวัดอำนาจเจริญได้เปิดเผยว่า โรคนี้มีชื่อเรียกว่า “โรคลัมปี สกิน” เป็นโรคอุบัติใหม่ มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสเป็นโรคที่เกิดเฉพาะในโค กระบือ ไม่เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน








Advertisement

เชื้อไวรัสชนิดนี้ ก่อโรคตามอวัยวะที่มีเซลล์เยื่อบุ มีลักษณะอาการที่สามารถสังเกตได้ คือ พบตุ่มเนื้อบนผิวหนังและเยื่อเมือกทั่วร่างกาย ซึ่งต่อมาจะตกสะเก็ดและเป็นแผลหลุม สัตว์อาจมีไข้และหายใจลำบากร่วมด้วย อัตราการตายน้อยมาก

โรคนี้มีแมลงดูดเลือด เช่น เห็บ แมลงวันดูดเลือด ริ้น เหลือบ ไร ยุง เป็นพาหะที่สำคัญในการแพร่กระจายเชื้อ นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัสสัตว์ป่วยโดยตรงผ่านทางน้ำเชื้อของพ่อพันธุ์ที่เป็นโรค หรือผ่านทางรก

จะพบเชื้อไวรัสในเลือดสัตว์ที่ติดเชื้อโดยเฉลี่ยพบได้ประมาณ 7-21 วัน หลังติดเชื้อ การป้องกันโรคทำได้โดยการกำจัดแมลงพาหะนำโรค ด้วยการใช้สารเคมีกำจัดแมลงแบบฉีด แบบราดหลัง หรือแบบฉีดพ่นสำหรับสัตว์ทุกตัวในฝูง

ปรับภูมิทัศน์โดยรอบฟาร์มให้โปร่งโล่ง ไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงพาหะ รวมถึงกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง กำจัดมูลสัตว์ออกจากฟาร์มเป็นประจำหรือใช้ผ้าใบคลุมเพื่อป้องกันแมลงมาวางไข่

ก่อนหน้านี้ องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) พบการระบาดของโรคลัมปี สกิน ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่นในแอฟริกา มีการแพร่กระจายของโรคมาสู่ภูมิภาคเอเชียได้แก่ บังคลาเทศ อินเดีย ฮ่องกง จีน ไต้หวัน ภูฏาน เนปาล เวียดนาม และเมียนมา

ต่อมาเมื่อปลายเดือน มี.ค. 64 กรมปศุสัตว์ได้รับรายงานพบโคเนื้อแสดงอาการสงสัยโรคลัมปี สกินในโคเนื้อของเกษตรกรรายย่อยที่ อ.พนมไพร จ. ร้อยเอ็ด จึงเก็บตัวอย่างส่งตรวจที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ

ต่อมาผลทางห้องปฏิบัติการตรวจพบเชื้อไวรัสโรคลัมปี สกิน จากการสอบสวนโรคเกิดจากการนำเข้าโคเนื้อมาเลี้ยงใหม่ในพื้นที่ โดยเป็นโคเนื้อที่อาจมีการลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน