เริ่มแล้ว ประชุมระดับอาเซียน ลดขยะทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียน ชื่นชมไทยประเทศแรกประกาศห้ามสูบบุหรี่ชายหาด เผยขยะทะเลร้อยละ 80 มาจากบนบก เผย 23 จังหวัดชายทะเล ขอความร่วมมือลดการใช้ถุงพลาสติก เปลี่ยนภาชนะใส่อาหารเพื่อลดปริมาณขยะ

เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่จ.ภูเก็ต พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานเปิดการประชุมระดับอาเซียน “เรื่อง การลดปริมาณขยะทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียน” โดยมีผู้บริหารระดับสูงของไทยและประเทศอาเซียน และจีน เข้าร่วมประชุม

พล.อ.สุรศักดิ์ เปิดเผยว่า ขยะทะเลกลายเป็นประเด็นสำคัญระดับโลก ที่องค์การสหประชาชาติกำลังให้ความสำคัญ เพราะได้กำหนดให้การจัดการทรัพยากรทางทะเลเป็น 1 ใน 17 เป้าหมายของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องจากทะเลทั่วโลกที่เปรียบเสมือนขุมทรัพย์ ที่ต่างคนต่างตักตวงใช้โดยไม่คำนึงผลที่เกิดขึ้น ซึ่งในระยะยาวเรากำลังเผชิญกับขยะที่ล่องลอยจากแผ่นดินออกสู่ทะเล และจากฝั่งออกสู่ท้องทะเล รวมทั้งกิจกรรมในทะเล โดยเฉพาะขยะพลาสติกได้สร้างปัญหามากมาย ขยะพลาสติกขนาดใหญ่ เช่น แห อวน หรือซากสิ่งของ ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ บาดเจ็บหรือเสียชีวิต สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ ทำให้แนวปะการังและพื้นท้องทะเลเสื่อมโทรม ทำลายทัศนียภาพของชายหาด ส่งผลต่อการประมง และการท่องเที่ยวของหลายประเทศ

“ขยะทะเลที่ย่อยสลายเป็นชิ้นเล็กๆ จนมองแทบไม่เห็นหรือที่เรียกว่า ไมโครพลาสติก ได้ผ่านเข้าสู่ระบบห่วงโซ่อาหารสัตว์ในทะเลและผ่านจากอาหารทะเลสู่มนุษย์ ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ในระยะยาว การแก้ปัญหาขยะทะเลจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทย โดย ทส.จึงได้คิดริเริ่มที่จะแก้ปัญหาทั้งนี้เพราะขยะทะเล เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนที่มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ประเทศในอาเชียน ต่างก็กำลังประสบปัญหาและเผชิญกับความท้าทายร่วมกันจึงได้หารือกับสำนักเลขาธิการอาเชียนในการริเริ่มสร้างความร่วมมือร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว การจัดการประชุมระดับอาเซียน เรื่อง การลดปริมาณขยะทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียน หรือ ASEAN Conference on Reducing Marine Debris in ASEAN Region จึงเกิดขึ้น เพื่อให้ประเทศอาเชียน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และร่วมกัน”รัฐมนตรีทส.กล่าว

พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้หลายประเทศให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาขยะทะเล อาทิ จีน เพิ่งจัดการประชุมการจัดการขยะทะเลในเขตเมืองชายฝั่งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ไปเมื่อช่วงต้นเดือน พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ขณะที่อินโดนีเชีย อยู่ระหว่างเตรียมงานจัดการประชุมเกี่ยวกับเรื่องขยะทะเลเช่นกัน สำหรับประเทศไทย จากการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาขยะทะเลพบว่า ร้อยละ 80 ของขยะทะเลมาจากบนบก ส่วนขยะจากกิจกรรมทางทะเล มีเพียงร้อยละ 20 รัฐบาลกำหนดให้ปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ โดยเน้นจัดการ ขยะตกค้าง 30 ล้านตัน ให้หมดไป และจัดการขยะใหม่ ปีละ 27 ล้านตัน ต้องลดที่ต้นทาง นำมาใช้ซ้ำและนำกลับมาใช้ใหม่ ทั้งนี้ในปี 2561 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 3Rs Forum ในกลุ่มประเทศเอชีย – แปซิฟิก รวมทั้งการออกกฎหมายและการสร้างวินัยคนในชาติ

“กระทรวงทรัพยากรฯ ยังร่วมมือกับทุกภาคและภาคเอกชน ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันพลาสติก ผลักดันการขับเคลื่อนแผนการจัดการพลาสติกและขยะพลาสติก โดยเน้นหลักการบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พลาสติกชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ทดแทนพลาสติก รีไซเคิลพลาสติก นอกจากนี้ ยังร่วมกับภาคเอกชนที่ผลิตน้ำดื่ม การลดและเลิกใช้ cap seal หรือพลาสติกที่หุ้มฝาขวด โดยข้อมูลในปี 2559 พบว่ามีน้ำดื่มที่ใช้ cap seal ถึง 2,600 ล้านขวด สำหรับเรื่องขยะทะเล ทส.กำหนดให้เขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลทุกแห่งปลอดจากถุงพลาสติก และเมื่อช่วงปลายเดือน ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้เริ่มโครงการนำร่องกับหน่วยงานใน 15 จังหวัดชายฝั่งทะเล กำหนดพื้นที่ชายหาด 24 แห่ง ให้เป็นชายหาดปลอดจากการสูบบุหรี่และทิ้งก้นบุหรี่และขยะอื่นๆ” รมว.ทส. กล่าว

ด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดี ทช. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เชื่อว่าจะได้ผลตามที่กำหนดไว้และจะยกระดับการแก้ปัญหาเพื่อลดปัญหาขยะทะเลในระดับภูมิภาคอาเซียนระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมทั้งการจัดทำแผนดำเนินการและช่องทาง การติดต่อของแต่ละประเทศที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาขยะทะเล ทั้งนี้ประเทศไทยมีจังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเล 23 จังหวัด อันดามัน 6 จังหวัด อ่าวไทย 17 จังหวัด สำรวจปี 2559 พบว่า ทั้ง23 จังหวัด มีขนะเกิดขึ้น 10.78 ล้านตัน เป็นพลาสติก 1.3 ล้านตัน มีการจัดการที่ถูกต้อง 0.96 ล้านตัน ขยะพลาสติกที่ตัดการไม่ถูกต้องมีโอกาสถูกชะ แบะพัดลงไปในทะเล กลายเป็นขยะทะเลแน่นอน นอกจากนี้ขยะทะเลยังเกิดจากกิจกรรมในทะเลอีกด้วย เช่น การขนส่งทางเรือ เรือสำราญ เรือท่องเที่ยว ประมงชายฝั่ง อีกด้วย

“นอกจากชายหาด 24 แห่งปลอดขยะ ยังมีโครงการลดขยะบนเกาะไข่ จ.พังงา โครงการประชารัฐขจัดขยะทะเล และที่ได้เริ่มใหม่คือการสำรวจตลาด ร้านค้า และบ้านเรือนประชาชนรอบชายฝั่งใน 23 จังหวัดชายทะเล คาดว่าไม่เกิน 3 เดือน จะสามารถสรุปได้ว่าในแต่ละพื้นที่มีจำนวนตลาดร้านค้า และบ้านเรือนประชาชนกี่แห่ง เพื่อขอความร่วมมือลดการใช้ถุงพลาสติก เปลี่ยนภาชนะใส่อาหารเพื่อลดปริมาณขยะให้น้อยที่สุด ทั้งนี้การประชุมครั้งนี้เราจะประกาศให้กลุ่มประเทศอาเซียน และจีนทราบว่า ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ประเทศไทยจะประกาศพื้นที่นำร่อง 24 ชายหาดทั่วประเทศเป็นพื้นปลอดการสูบบุหรี่ ทั้งนี้ก้นบุหรี่ก็เป็นขยะตัวสำคัญอีกประเภทหนึ่งที่ทำลายทั้งความงดงามและสิ่งแวดล้อมบริเวณชายหาด มีการสำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยว เกี่ยวกับเรื่องนี้ปรากฏว่าทุกคนตื่นเต้นและเห็นดีด้วยกับเรื่องนี้อย่างมาก โดยประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่มีการประกาศห้ามสูบบุหรี่ชายหาดในกลุ่มประเทศอาเซียน” นายจตุพร กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน