ตรัง โผล่อีก เสาไฟโซล่าเซลล์ ต้นละ 2 แสน แห่วิจารณ์สนั่น-เทียบราคา ด้านปลัด อบต. แอ่นอกรับแพงเกินจริง ด้าน สตง.สั่งคืนเงินในส่วนเกินไปแล้ว

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 15 มิ.ย.2564 ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปยังบ่อน้ำพุร้อนเค็มควนสระ ในพื้นที่ ม.4 และ ม.6 บ้านควนสระ ต.สุโสะ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เพื่อตรวจสอบโครงการติดตั้งโคมไฟส่องสว่างแบบพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซล่าเซลล์ ของ อบต.สุโสะ เลขที่โครงการ 61117385134 งบประมาณ 494,000 บาท ติดตั้งเมื่อปี พ.ศ.2561

นอกจากนี้ ยังมีอีก 3 โครงการ ที่ดำเนินการติดตั้งเสาไฟโซล่าเซลล์ในลักษณะเดียวกัน งบประมาณโดยรวมทั้งหมด 4 โครงการประมาณ 1.8 ล้านบาท และมีเพียงบริษัทเดียวที่ได้รับงานไป จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างล้นหลามในเพจ “ชมรม STRONG ต้านทุจริตภาคใต้” และมีการเทียบเคียงราคาตลาดที่มีการขายกันทั่วไปในเว็บไซต์ต่าง ๆ ในอินเตอร์เน็ต ซึ่งปรากฏว่าราคาอยู่เพียงแค่หลักพันบาทเท่านั้น

จากการสอบถาม นายเด่นทยา วุ่นแก้ว ปลัด อบต.สุโสะ เปิดเผยว่า สำหรับการสร้างไฟโซล่าเซลล์ ตนยอมรับว่าทางช่างของเรายังไม่มีความชำนาญมากพอสมควรแต่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ สาเหตุที่สร้าง เพราะเป็นความต้องการของชาวบ้าน ซึ่งกำลังปรับปรุงบ่อน้ำพุเค็ม ซึ่งเป็นบ่อที่ใช้บำบัดรักษาอาการปวดเมื่อย มีประชาชนเข้ามาใช้บริการเยอะ กว่าจะใช้บริการเสร็จก็อยู่ในช่วง 21.00-22.00 น. ถนนสายดังกล่าวมืดมาก ทางเราก็ต้องอาศัยไฟโซล่าเซลล์ในการช่วยเพิ่มความสว่าง เพื่อให้ความสะดวกสบายให้แก่ประชาชน

นายเด่นทยา กล่าวต่อว่า การใช้แผ่นโซล่าเซลล์ถือว่าเป็นการประหยัดค่าไฟ ซึ่งเราสร้างมา 3 เสา ใช้งบประมาณไป 4 แสนกว่าบาท บางกระแสอาจมองว่าไม่คุ้มทุน แต่สำหรับชาวบ้านที่ได้ใช้ประโยขน์อย่างน้อยก็ได้มีความสว่าง สามารถมองเห็นว่ามีใครมาทำอะไรในชุมชนบ้าง ทางชุมชนก็พึงพอใจ ที่ผ่านมาด้วยความเป็นเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ต้องมีความผิดพลาดบ้างบางส่วน แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เราอาจจะยังไม่ได้ซ่อมแซมทันทีเพราะยังอยู่ระหว่างประกันสัญญาของบริษัทก็มีหนังสือแจ้งไป

 

นายเด่นทยา กล่าวอีกว่า ทาง สตง. ได้มาตรวจสอบเอกสารหลักฐานว่าเป็นไปตามระเบียบกฎหมายหรือไม่ ด้วยความที่เราไม่มีความชำนาญการด้านไฟโซล่าเซลล์ จึงได้ไปสอบถามเรื่องวัสดุกับ 3 ร้านตามระเบียบ จนได้ราคากลาง บางเรื่องก็เกินจากนั้น ทางเราก็ได้คืนเงินไปเรียบร้อยแล้วในส่วนที่เกินราคากลาง หากเรื่องการกำหนดว่าใครจะได้รับประโยชน์ตรงนี้หรือไม่นั้น ตนเชื่อมั่นในตัวนายช่างของตนว่าจะไม่มีเรื่องนี้ แต่ด้วยความที่เป็นเรื่องใหม่ที่ขาดความชำนาญ








Advertisement

ด้าน นายอับดุลการิม ใจสมุทร อายุ 64 ปี ผู้ประสานงานโรงการบ่อน้ำพุร้อนเค็ม และป่าชายเลนในเมือง บ้านควนสระ กล่าวว่า เราได้รับไฟโซล่าเซลล์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงที่เราเริ่มทำบ่อน้ำร้อนได้ประมาณเกือบ 1 ปี ซึ่งเป็นความต้องการของชาวบ้านที่อยากได้ไฟ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับงบประมาณของ อบต.สุโสะ ซึ่งถือว่ามีงบประมาณน้อยมาก กว่าเราจะได้ก็เกือบปีแล้วเราก็ไม่มีแสงสว่างเลย

 

นายอับดุลการิม กล่าวอีกว่า หลังจากนั้น อบต.ก็ได้อนุมัติงบประมาณให้เราในส่วนตรงนี้ เพื่อให้แสงสว่างกับบ่อน้ำพุร้อนตรงนี้ การใช้ประโยชน์ช่วงแรกก็ยังไม่ได้เต็มที่ ประมาณ 22.00 น. ไฟเริ่มอ่อนลงอาจจะเพราะหม้อแบตเตอรี่ไม่สามารถเก็บไฟได้ตามสเปกของมัน ตนก็ยังไม่เข้าใจ แต่มองว่าดีถือเป็นพลังงานทางเลือกที่ช่วยสนับสนุนบ่อน้ำพุร้อนเค็ม เพื่อใช้เป็นแหล่งบำบัด รักษาโรคให้กับผู้มาใช้บริการที่นี่

นายอับดุลการิม กล่าวอีกว่า เรามีการขุดบ่อ ขุดลอกคลอง ระบบแสงไฟฟ้า ระบบบ่อแช่ ห้องน้ำ อาคาร หรือ ศูนย์การเรียนรู้ ทาง อบต.สุโสะ ก็ได้เจียดงบประมาณในส่วนของไฟ และการขุดลอกคลอง ให้เกิดความคล่องตัว ตอนนี้ระบบไฟก็กลับสู่ปกติใช้ได้ทั้งคืน ดับตอนเวลา 05.57 นาที ต่างจากก่อนหน้านี้ที่ไฟไม่ได้สว่างทั้งคืน

“ในราคาต้นทุนการผลิตนั้นในช่วงแรก ผมมองว่าราคาต้นละ 2 แสนบาทตามที่เป็นกระแส ผมมองว่าไม่แพง เพราะเราสามารถใช้ได้ตลอดไม่ต้องเสียค่าไฟ เป็นพลังงานทางเลือกที่สมควรมีในหมู่บ้าน ชาวบ้านเองก็ได้รับประโยขน์ เพราะก่อนที่จะมีไฟนั้นบริเวณตรงนี้เปลี่ยว น่ากลัว แต่ตอนนี้กลายเป็นชุมชนเมืองแล้ว การสัญจรทุกอย่างใช้เส้นทางที่นี่ ผู้มาใช้บริการเยอะ แต่ช่วงนี้เป็นช่วงสถานการณ์โควิด-19 เราก็ได้หยุดใช้บริการก่อนชั่วคราว” นายอับดุลการีม กล่าว

ขณะที่ นายสุรินทร์ แนมไสย ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดตรัง กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2561 หลังเกิดประเด็นขึ้น ทางสตง.ได้เข้าไปตรวจสอบแล้ว หากจะมองว่าจะเข้าข่ายทุจริตหรือไม่นั้น โดยมองว่าในเบื้องต้นทาง อบต.ได้ดำเนินการตามระเบียบแบบแผนถูกต้องทุกอย่าง ไม่ได้ปฏิบัตินอกเหนือจากหลักเกณฑ์ เพราะมีการสุ่มราคาแล้ว จำนวน 3 ร้าน ไม่เข้าพฤติการณ์การทุจริต เพียงแค่ไม่ได้รอบคอบ และไม่มีราคากลาง รวมทั้งได้ตั้งคณะกรรมการของ อบต.เป็นคนพิจารณาเอง โดย สตง.ได้มีการสั่งการให้คืนงบประมาณแล้วในส่วนที่เกินความเป็นจริงไป

สำหรับรายละเอียดกระแสโซเชียลมีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราคาเสาไฟโซล่าเซลล์ สูงผิดปกติเมื่อเปรียบเทียบกับราคาตลาด ซึ่งแตกต่างกันจำนวนหลายรายการ เช่น 1.โคมไฟ sport light LED 100 w ในเอกสารปริมาณงานระบุราคาราชการชุดละ 13,500 บาท ราคาตลาดชุดละ 1,300 บาท

 

 

2.เสาเหล็กกลมชุบกัลวาไนท์สูง 9 เมตร ครบชุดราคาราชการชุดละ 26,800 บาท ราคาตลาดชุดละ 15,000 บาท 3.แผงโซล่าเซลล์ Poly-Crystalline ขนาดกำลังผลิตไม่น้อยกว่า 320 วัตต์ ราคาราชการชุดละ 8,000 บาท ราคาตลาดชุดละ 6,000 บาท 4.ตู้สำหรับใส่อุปกรณ์ชนิดกันน้ำติดตั้งที่เสา ราคาราชการตู้ละ 13,400 บาท ราคาตลาดตู้ละไม่เกิน 1,000 บาท 5.เบรกเกอร์ 16 แอมป์ ราคาราชการชิ้นละ 1,840 บาท ราคาตลาดชิ้นละ 200-300 บาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน