กรมทะเล ร่วมกับ เชฟรอน และจุฬาฯ เผยผลสำรวจปะการังเทียมจากขาแท่น เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ฯ พบสัตว์ทะเลอาศัยเพิ่มขึ้น หวังส่งเสริมท่องเที่ยวดำน้ำในอนาคต

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เผยถึงผลการสำรวจหลังจากนำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมไปจัดวางเป็นปะรังเทียม บริเวณเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ว่า ภายหลังจากที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมไปจัดวางเป็นปะรังเทียม บริเวณเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

กรม ทช. ได้ร่วมกับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดตามประเมินผลบริเวณปะการังเทียมจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจัดวางเป็นปะการังเทียมเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล บริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี หลังจากที่จัดวางไปแล้ว 6 เดือน

พบว่าวัสดุขาแท่นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คุณภาพน้ำทะเลและตะกอนพื้นท้องทะเลอยู่ในเกณฑ์ปกติ พบสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กซึ่งเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ทะเลหลากหลายชนิด จึงมีปลาหลายชนิดเข้ามาอยู่อาศัย เช่น ปลาสลิดหิน ปลานกขุนทอง อีกทั้งยังพบปลาเศรษฐกิจ เช่น ปลาอินทรีย์ ปลาริวกิว รวมทั้งพบปลาหลายชนิดที่ไม่เคยพบในบริเวณดังกล่าวมานานกลับเข้ามาอาศัย เช่น ปลาหางแข็ง ปลาโฉมงาม เป็นต้น บริเวณขาแท่นที่อยู่ใต้น้ำ พบว่ามีกลุ่มปะการังอ่อน และกัลปังหา สามารถเจริญเติบโตได้ดี และมีโอกาสที่จะขยายพื้นที่ปกคลุมเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กรม ทช. ได้ติดตามเฝ้าระวังพื้นที่กองปะการังเทียม และออกมาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการังบริเวณพื้นที่ดังกล่าว เป็นระยะเวลา 2 ปี มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 8 มีนาคม 2564 เพื่อให้สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลฟื้นตัวและเข้ามาอาศัย และทั้งสามหน่วยงานจะติดตามความคืบหน้าโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาถอดบทเรียนให้เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ของประเทศ

โดยคาดหวังว่าจะเป็นแหล่งเพิ่มพูนทรัพยากรสัตว์น้ำ และส่งเสริมการท่องเที่ยวดำน้ำในอนาคตสร้างรายได้ให้กับชุมชน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือในการสงวน อนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้มีความอุดมสมบูรณ์ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน