กรมควบคุมมลพิษ ประสาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บุกตรวจลักลอบทิ้งของเสียเคมีในพื้นที่เอกชน จ.ลพบุรี ผงะเจอน้ำของเสียเคมีซึมลงบ่อน้ำของชาวบ้าน แจ้งตำรวจเอาผิดทุกกฎหมายทั้งแพ่ง และ อาญา ค่าเสียหลายสิบล้าน

วันที่ 17 ก.ย.2564 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กรมควบคุมมลพิษ พร้อมเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม จ.ลพบุรี กอ.รมน. ตำรวจ บก.ปทส. อุตสาหกรรมจ.ลพบุรี เทศบาลตำบลดีลัง และ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ต.ดีลัง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ร่วมกันตรวจสอบการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมในพื้นที่เอกชน ซอย 11 สายโท-จัตวา ส่งกลิ่นเหม็นเป็นระยะไกล ชาวบ้านทนกลิ่นไม่ไหวมีอาการเวียนศีรษะ คลื่นใส้ อาเจียน

นายอรรถพล กล่าวว่า พื้นที่ที่มีการลักลอบทิ้งของเสียเคมี รวมถึงวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (กากอุตสาหกรรม) เป็นพื้นที่ของเอกชนมีประมาณ 3 – 4ไร่ จากทั้งหมด 24 ไร่ พบมีถังบรรจุของเสียเคมีหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วขนาด 200 ลิตร ประมาณ 300 –400 ถังมาทิ้งในบ่อดินเก่า ลักษณะของถังมีการบีบอัดจนสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วเจิ่งนองไปทั่ว ลักษณะทางกายภาพของของเสียเคมีหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วบางส่วนเข้าข่ายเป็นของเสียอันตราย เพราะสามารถติดไฟได้ อีกทั้งอยู่ใกล้เคียงกับบ่อน้ำที่ประชาชนอาศัยอยู่ใกล้เคียงใช้ประโยชน์ น้ำจากพื้นของเสียเคมีหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วซึมลงไปในบ่อน้ำทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และประชาชนได้รับความเดือดร้อน

 อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า เจ้าหน้าที่ ศปก.พล. ได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.พัฒนานิคม ไว้เป็นการเบื้องต้นแล้ว เพื่อให้หาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย เพราะการลักลอบทิ้งของเสียเคมี ซึ่งเป็นกากอุตสาหกรรมเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ประกอบด้วย 1.พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คือความผิดฐานประกอบกิจการโรงงานจำพวก 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 12) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 50)

2.พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คือความผิดฐานครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 2 หรือชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 23) ขึ้นอยู่กับว่ากากอุตสาหกรรมที่ตรวจพบเป็นวัตถุอันตรายชนิดใด ต้องระวางโทษสูงสุดไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 70 หรือมาตรา 71 หรือมาตรา 72 หรือมาตรา 73)

ทิ้งของเสียเคมี

3.พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คือความผิดฐานเก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย โดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 19) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 71) และความผิดฐานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 33) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 71)

4.พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คือความผิดฐานเก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย โดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 34/2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 58/2)

บ่อสารพิษ

5.พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ประกอบด้วย ความผิดฐานดำเนินโครงการก่อนที่รายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท และปรับรายวันอีกไม่เกินวันละ 1 แสนบาทตลอดระยะเวลาที่ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องหรือหยุดการกระทำนั้น (มาตรา 101/1) และต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่าย หากเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของเอกชน หรือมีความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (มาตรา 96 และมาตรา 97)

“ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ดิน แหล่งน้ำ และน้ำใต้ดินปนเปื้อน ซึ่งต้องบังคับใช้กฎหมายในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายและการฟื้นฟู โดยใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเอาผิดทุกกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญา หากผู้ใดพบเห็นการลักลอบทิ้งของเสียเคมีในพื้นที่ ต.ดีลัง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี

2ไร่

ขอความร่วมมือให้แจ้งเบาะแสมาที่ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (ศปก.พล.) ซึ่งจะดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการติดตามและบังคับใช้กฎหมายกับเจ้าของสถานที่ ผู้ลักลอบทิ้งของเสียเคมีและแหล่งกำเนิดมลพิษที่เกี่ยวข้อง” นายอรรถพล กล่าว

 

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน