กอนช.ประกาศเตือน 4 จังหวัด “บุรีรัมย์ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ” เสี่ยงน้ำท่วม คาดแม่น้ำมูลขึ้นสูงอีก 1 เมตร หลังเจอทั้งมรสุมและพายุดีเปรสชัน

เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2564 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ออกประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติฉบับที่ 20/2564 เรื่อง เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำมูล ระบุว่า จากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่ามีร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ในช่วงวันที่ 7-11 ตุลาคม 2564 รวมทั้งพายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 10 – 11 ตุลาคม 2564 ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้คาดการณ์ปริมาณฝนตก (ONE MAP) ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และประเมินมวลน้ำหลากสูงสุดจากลำตะคอง ลำจักราช จังหวัดนครราชสีมา และลำน้ำสาขาลุ่มน้ำมูลตอนบนคาดการณ์มวลน้ำสูงสุดจะไหลผ่านจังหวัดอุบลราชธานี ในช่วงวันที่ 8 – 11 ตุลาคม 2564 ส่งผลให้แม่น้ำมูลมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 0.50 – 1.00 เมตร โดยมีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังระดับน้ำเอ่อล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำมูล ดังนี้

1. จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอสตึก
2. จังหวัดสุรินทร์ อำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม และอำเภอรัตนบุรี
3. จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอโพนทราย และอำเภอสุวรรณภูมิ
4. จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ อำเภอบึงบูรพ์ อำเภอยางชุมน้อย อำเภอราษีไศล อำเภอศิลาลาด อำเภออุทุมพรพิสัย และอำเภอกันทรารมย์

ประกอบกับมีมวลน้ำหลากจากแม่น้ำชี จะไหลมารวมกับแม่น้ำมูลที่จังหวัดอุบลราชธานีและไหลลงแม่น้ำโขงตามลำดับ คาดการณ์ว่ามวลน้ำสูงสุดจะไหลผ่านจังหวัดอุบลราชธานี ในช่วงวันที่16 – 20 ตุลาคม 2564 โดยมีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังระดับน้ำเอ่อล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำมูล บริเวณอำเภอเขื่องใน อำเภอเมือง อำเภอดอนมดแดง อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ และอำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1.ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่จุดเสี่ยงและพื้นที่ที่ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังอยู่ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำชี แม่น้ำมูล และลำน้ำสาขา ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเตรียมเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น

2.ปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนต่าง ๆ ในลุ่มน้ำ ปรับแผนการบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำ ประตูระบายน้ำเพื่อพร่องน้ำ บริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ และบริหารจัดจราจรน้ำในแม่น้ำชี และมูล เพื่อเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเพื่อรองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัย

3.เตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือรวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที และให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

ประกาศ ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2564

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน