ชุมชนริมรางเมืองย่าโม เดือดร้อนโครงการรถไฟทางคู่ ความเร็วสูง ให้ย้ายไปอยู่แฟลต กระทบวิถีชีวิต ยื่นหนังสือจี้ พม. แก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2564 ที่บริเวณหน้าสนามศาลากลางจ.นครราชสีมา นายนิยม พินิจพงษ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายริมรางรถไฟเมืองย่าโม พร้อมกลุ่มตัวแทน 13 ชุมชนในเขตเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-นครราชสีมา และรถไฟทางคู่มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น มีเส้นทางผ่านเขตเมืองนครราชสีมา

ส่งผลให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องขอคืนพื้นที่เขตทางรถไฟด้านละ 40 เมตร ล่าสุดทยอยอนุมัติให้มีการก่อสร้างเป็นช่วง ๆ พร้อมขอคืนพื้นที่ตามแนวเขตรถไฟ เพื่อพัฒนาที่ดินรถไฟ จึงได้นัดรวมตัวมายื่นหนังสือแถลงการณ์เครือข่ายริมรางเมืองย่าโมพร้อมกับชูป้ายเขียนข้อความ “เป็นกฎหมายหรือกฎหมู่ ใครรู้บ้าง ท่านแอบอ้างความเจริญให้เมืองสวย”

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา ซึ่งติดภารกิจเร่งด่วน จึงมอบหมายให้นายชูศักดิ์ ชุนเกาะ รอง ผวจ.นครราชสีมา มารับหนังสือแทนโดยจะเร่งนำเสนอให้ผู้บังคับบัญชาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบปัญหาและความต้องการโดยเร็ว

นายนิยม กล่าวว่า จากบันทึกความร่วมมือระหว่าง รฟท. และการเคหะแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 64 และการแถลงข่าวของ รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในวันที่ 9 ตุลาคม 64 จะนำที่ดินของ รฟท. สร้างเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยกลุ่มต่าง ๆ

ทางเครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายชุมชนคนเมือง เครือข่ายริมรางรถไฟเมืองย่าโม ซึ่งมีที่อยู่อาศัยในที่ดิน รฟท. ทั่วประเทศ มีความกังวลและไม่เห็นด้วยที่พม. มีนโยบายเดียวในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย โดยให้ประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่มีความหลากหลายทั้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และรายได้แตกต่างกัน ย้ายไปขึ้นแฟลตเท่านั้น








Advertisement

วิธีคิดเช่นนี้อันตราย หากย้ายกลุ่มคนเหล่านี้ขึ้นแฟลตแล้วจะไม่สามารถดำรงชีพได้ การทำมาหากินไม่เหมือนเดิม ปัญหาสังคมก็จะซ้ำรอยเหมือนที่การเคหะแห่งชาติได้สร้างแฟลตแก้ปัญหาชุมชนแออัด แต่ปัจจุบันชุมชนเหล่านี้ยังคงดำรงอยู่ในทุกมุมเมืองมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเป็นรูปธรรมที่แสดงให้เห็นชัดเจน การสร้างแฟลตแล้วนำคนที่มีความหลากหลายทางวิถีชีวิตไปอยู่ร่วมกันไม่สามารถแก้ปัญหาได้

ทั้งนี้ในช่วงเวลา 18 ปี ที่ผ่านมา โครงการบ้านมั่นคงมีความยืดหยุ่นในการสร้างที่อยู่อาศัยในรูปแบบต่าง ๆ ให้เหมาะสำหรับกลุ่มคนที่หลากหลาย โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ในที่ดินของรฟท. ได้เช่าที่ดินอย่างถูกต้องและสามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยได้ในแนวราบ สอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ชุมชนและอาศัยอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลของ รฟท. ในเขต ทน.นครราชสีมา มีจำนวน 13 ชุมชน ประมาณ 1,591 ครัวเรือน ได้รับผลกระทบ หากพม. มีความจริงใจในการแก้ปัญหาและเห็นแก่ประชาชนเป็นที่ตั้งควรนำเอาโมเดลการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของรฟท. ที่ผ่านมา มาศึกษารวมถึงหารือรูปแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยกับประชาชนโดยตรง

อย่างไรก็ตามพวกเราเห็นด้วยที่กระทรวงคมนาคมมีแนวความคิดแบ่งปันที่ดินเพื่อนำมาเป็นที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนรายได้น้อย แต่ไม่เห็นด้วยกับรูปแบบที่อยู่อาศัยที่จัดทำขึ้นโดยไม่ถามความต้องการสามารถอยู่ได้หรือไม่ได้ โดยมุ่งจะอพยพคนให้ขึ้นไปอยู่บนแฟลตเท่านั้น เพราะนั่นคือการย้ายปัญหา ไม่ใช่การแก้ปัญหา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน