เครือข่ายคนรักษ์อ่าว จ.ชุมพร ยื่นหนังสื่อผ่านผู้ว่าฯ ถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ระงับเขื่อนป้องกันคลื่น หาดทรายรี ยาว 633 เมตร งบ 80 ล้านบาท ยังไม่ผ่านอีไอเอ

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 26 ต.ค. 2564 ตัวแทนชาวเครือข่ายคนรักษ์อ่าว จ.ชุมพร นำโดยนายยุทธนา สันติวิมล ตัวแทนประชาชนหาดทรายรี นายวัตโชติ อนันตเมฆ แกนนำกลุ่มมิตรเต่า SupBoardChumporn ผู้ประกอบการเรือนำเที่ยวหาดทรายรี นายธนเทพ กมศิลป์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งด้านสิ่งแวดล้อม จ.ชุมพร น.ส.ชิดสุภางค์ ชำนาญ เลขาธิการสมาคมเพื่อนสิ่งแวดล้อม จ.ชุมพร

เข้ายื่นหนังสือต่อนายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ผ่านถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงข้อเสนอของภาคประชาชน ต่อการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน

จากกรณีที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตป้องกันตลิ่งกัดเซาะชายฝั่งริมทะเล ความยาว 633 เมตร ด้วยงบประมาณ 80 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 700 วัน สิ้นสุดสัญญาวันที่ 16 ต.ค. 2565 บนพื้นที่หาดทรายรี ต.หาดทรายรี อ.เมือง จ.ชุมพร ไม่มีการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งจะส่งผลเสียระยะยาว

เนื่องจากจุดก่อสร้างดังห่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับประเทศ และเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์เนื่องจากมีพระตำหนักที่ประทับ พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือเสด็จเตี่ย และเป็นแหล่งเรียนรู้ยาสมุนไพรตำหรับหมอพร และเป็นสถานที่สวรรคตของพระองค์ ปัจจุบันมีการสร้างพระบรมรูปของพลเรือเอกเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดศักดิ์ มีประชาชนจากทั่วสารทิศมากราบไหว้สักการะอย่างไม่ขาดสาย

ตัวแทนเครือข่าวคนรักษ์อ่าว จ.ชุมพร กล่าวว่า จากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในประเทศไทยที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างเนื่องนั้น มีสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ ภัยทางธรรมชาติ และการคุกคามจากมนุษย์ การกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทย ปัจจุบันพบว่าสาเหตุหลักมาจากการแทรกแซงกระบวนการทางธรรมชาติของหาดทราย ด้วยโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเล และการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ที่ไม่คำนึงถึงระบบธรรมชาติของทะเล ส่งผลให้หาดทรายเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงต่อเนื่อง

เมื่อพิจารณาแล้ว ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่กล่าวมานั้น มีต้นตอของปัญหาจากการดำเนินนโยบายของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยมีปัญหาเชิงนโยบายที่เห็นได้อย่างประจักษ์ชัดเจน และจะจัดกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านโครงการอย่างต่อเนื่อง เครือข่ายคนรักษ์อ่าว จ.ชุมพร ได้เล็งเห็นว่าเพื่อให้มีการฟื้นฟู แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลของประเทศไทยอย่างยั่งยืน รัฐบาลควรต้องเร่งดำเนินการดังนี้

1.ให้ระงับโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลหาดทรายรี ซึ่งในทางวิชาการมีข้อมูลชัดเจนว่าการขุดทำลายชายหาดให้สูญสภาพ ทั้งโครงสร้างสัณฐานชายหาด ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในเชิงนิเวศในการปกป้องชายฝั่งและสันทนาการ จึงถือเป็นการสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อชายหาด ซึ่งจัดเป็นทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตามที่กฎหมายที่บัญญัติ

2.ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโครงการหรือกิจการประเภทกำแพงกันคลื่น กลับเข้าไปเป็นโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิตามรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชน และเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนชายฝั่ง

3.ให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระงับการดำเนินการโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ชายหาดทั่วประเทศไทย ที่กำลังมีการดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เพื่อป้องการทำลายชายหาดด้วยโครงสร้างป้องกันชายฝั่งของรัฐ และไม่ให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างฟุ่มเฟือย ไม่ได้เกิดประโยชน์ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง แต่เป็นการซ้ำเติมเพิ่มปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งให้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

4.รัฐบาลต้องผลักดันให้เกิดการใช้มาตรการชั่วคราว ที่สามารถรื้อถอนได้เมื่อผ่านมรสุมไปอย่างที่ปรากฏชัดเจนในหลายพื้นที่ชายหาดของประเทศไทยว่า การกัดเซาะชายฝั่งในหลายพื้นที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว การใช้มาตรการชั่วคราวที่เหมาะสมกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นทางออกที่เหมาะสมเพื่อการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งชั่วคราวในช่วงมรสุม

5.รัฐบาลต้องส่งเสริม และผลักดันให้มีการใช้มาตรการที่เป็นมิตรกับชายหาด เช่น การเติมทราย การกำหนดแนวถอยร่น การรื้อถอนโครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่ไม่จำเป็น และการป้องกันการกัดเซาะตามวิถีภูมิปัญญาดั้งเดิม เพื่อให้ชายฝั่งได้ฟื้นคืนและเกิดความสมดุล โดยที่มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรชายฝั่ง
6. รัฐบาลต้องสนับสนุนให้ประชาชนและชุมชนชายฝั่งสามารถกำหนดเจตจำนงของตนเองในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชายหาดอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งการส่งเสริมให้ความรู้และรับรองสิทธิชุมชน กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการจัดการ ใช้ประโยชน์ และบำรุงรักษาทรัพยากรชายหาด

7.คณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทุกจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งต้องจัดให้มีคณะอนุกรรมการกัดเซาะชายฝั่ง โดยกำหนดให้มีสัดส่วนจากภาคประชาชนที่มาจากพื้นที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งร่วมเป็นอนุกรรมการดังกล่าว

8.รัฐบาลควรเร่งตั้งคณะกรรมการศึกษาสภาพปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อรวบรวมการใช้ประโยชน์ และจำแนกประเภทการกัดเซาะชายฝั่ง รวมทั้งการการศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกัน แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน