ศาลพระโขนงสั่งจำคุกแก๊งอเมริกันฆ่าหั่นศพยัดตู้แช่ ปลอมพาสปอร์ตยิงตำรวจสาหัส 43 ปี 10 เดือน ปรับ 3 แสนบาท ข้อหาพยายามฆ่า พ.ร.บ.อาวุธปืน หนังสือเดินทางปลอม ส่วนเพื่อนอีก 2 คนยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้ยกฟ้องแต่ขังไว้ระหว่างอุทธรณ์

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดพระโขนง ถ.สรรพาวุธบางนา ได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.6040/2559 ที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายแอรอน โทมัส เกเบล อายุ 34 ปี สัญชาติอเมริกัน, นายเจมส์ดักลาส อีเกอร์ อายุ 67 ปี สัญชาติอเมริกัน, นายปีเตอร์ แอนดริว โคลเทอร์ หรือ เฮอร์เบิร์ต เครก ลาฟอน อายุ 64 ปี สัญชาติอเมริกัน เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดต่อชีวิต, ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม, ความผิดเกี่ยวกับศพ, ความผิดเกี่ยวกับดวงตรา และหนังสือเดินทาง, พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ,ความผิดต่อวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท, พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ และ พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ

โดยอัยการโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2549 จำเลยทั้งหมดร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนรวม 7 รายการ ไว้ในความครอง ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน น้ำหนัก 4.522 กรัมเพื่อจำหน่าย และมีกัญชาและยาเค ไว้เพื่อจำหน่ายและร่วมกันมือและจำหน่ายหนังสือเดินทางปลอมของประเทศฝรั่งเศล 3 ฉบับ และหนังสือเดินทางของสหรัฐอเมริกา 1 ฉบับ

โดยทำขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองหลงเชื่อว่าหนังสือเดินทางดังกล่าวเป็นหนังสือเดินทางที่ประเทศอังกฤษออกให้ และเมื่อระหว่างปลายเดือนตุลาคม2551- ปลายเดือนมกราคม 2559 จำเลยทั้ง 3 ร่วมทำลายศพของนายชาร์ล เอ็ดเวิร์ด ดีทเทิลเซ่น โดยตัดและเลื่อยศพออกเป็นท่อนๆ นำไปใส่ถุงแช่ไว้ในตู้แช่แข็งเพื่อปิดบังการตาย ในบ้านเลขที่ 37/2 ซอยเอกมัย 12 และร่วมกันเคลื่อนย้ายศพไปยังอาคารพาณิชย์ เลขที่ 18/1 ซอยสุขุมวิท 56 และเมื่อต้นเดือนมกราคม 2551 จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวสัญชาติอเมริกัน ได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยไม่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง และเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2559

ขณะที่จ.ส.ต.กัญจนพงศ์ เชเดช และ จ.ส.ต.นพรัตน์ ยอดศิลป์ และจ.ส.ต.ประสบโชค พานทอง ผู้เสียหายที่ 1-3 ซึ่งเป็นตำรวจสน.พระโขนงเข้าทำการตรวจค้นจับกุมจำเลยทั้งสาม ตามหน้าที่จำเลยที่ 3 ได้ใช้อาวุธปืนขนาด 9 ม.ม.ที่จำเลยทั้งสามร่วมกันมีไว้ในครอบครองยิงผู้เสียหายที่ 1 โดยเจตนาฆ่า 3 นัดกระสุนถูกลิ้นปี่ด้านขวา ปลายหัวใจและเส้นเลือดแดงใหญ่ที่ท้องอันเป็นอวัยวะสำคัญ แต่ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับการรักษาทันที ทำให้ไม่ถึงแก่ความตาย และจำเลยที่ 3 กอดปล้ำกับผู้เสียหายที่ 2 และ 3 จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย เหตุเกิดแขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กทม.และแขวงบางจาก เขตพระโขนงเกี่ยวพันกัน จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2559 ตำรวจจับกุมนายโดนัลด์ เครเมอร์ สัญชาติอเมริกา แจ้งข้อหาหนังสือเดินทางปลอม ต่อมามีการซัดทอดว่าซื้อหนังสือเดินทางมาจากนายวิลเลี่ยม ตำรวจจึงขอหมายค้นจากศาลพระโขนงขอตรวจค้นพบบ้านเลขที่ 18/1 ซอยสุขุมวิท 56 พบ ชาวต่างชาติ 5 คน จำเลยทั้งสามคน และ เป็นชาวพม่า หญิงและชายอย่างละ 1 คน ขณะจับกุมนายปีเตอร์ จำเลยที่ 3 ซึ่งอยู่บริเวณชั้น 4 ของอาคารดังกล่าว มีการยิงปืนต่อสู้กันจำนวน 3 นัด กระสุนถูกจ.ส.ต.กัญจนพงศ์ ผู้เสียหาย ได้รับบาดเจ็บสาหัส และเมื่อควบคุมตัวจำเลยทั้งหมดได้ จากการตรวจค้นที่เกิดเหตุ พบตู้แช่แข็งขนาดใหญ่ถูกล็อคด้วยกุญแจ เมื่อเปิดตู้แช่ดังกล่าวพบชิ้นส่วนมนุษย์เป็นชาวต่างชาติ ถูกตัดอวัยวะด้วยของมีคม บรรจุในถุงพลาสติกสีดำ แช่แข็งอยู่จำนวน 4 ชิ้น และพบอาวุธปืน เครื่องกระสุน ยาเสพติดและหนังสือเดินทาง จำนวน 10 ฉบับ

ขณะที่พยานโจทก์หลายปาก ซึ่งเป็นแม่บ้านทำความสะอาด, คนขายตู้เย็นที่จำเลยสั่งซื้อจากร้าน และคนขี่จักรยานยนต์รับจ้างที่ไปช่วยขนของย้ายบ้าน ต่างเบิกความสอดคล้องเชื่อมโยงกันเป็นลำดับให้เห็นว่า นายปีเตอร์ จำเลยที่ 3 เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องครอบครองขนย้ายตู้แช่แข็งโดยพยานดังกล่าวไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 3 และไม่เคยรู้จักกันมาก่อน จึงไม่มีเหตุปรักปรำให้ร้าย ทั้งยังได้จากคำเบิกความของจำเลยที่ 3 เองว่า รับทราบเหตุการณ์ตั้งแต่มีการนำศพ ไปแช่ในตู้เย็นดังกล่าว และเป็นผู้รับว่าได้สั่งขนย้ายตู้แช่แข็งไปยังอาคารอีกหลังหนึ่ง

ข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของจำเลยที่ 3 จึงเจือสมกับพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ครอบครองตู้แช่ที่บรรจุศพ จำเลยที่ 3 ต่อสู้ว่าไม่ทราบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการหั่นศพและนำศพไปแช่แข็ง แต่ทางนำสืบของจำเลยที่ 3 ขัดแย้งกันไม่สมเหตุสมผล มีข้อพิรุธหลายประการ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ทราบว่ามีศพอยู่ในตู้แช่แข็งจึงเป็นการซ่อนเร้น เพื่อปิดบังเหตุการณ์ตาย อันเป็นการเคลื่อนย้ายศพโดยไม่มีเหตุอันควร พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมารับฟังโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิด

ส่วนความผิดปลอมแปลงดวงตราประทับหนังสือเดินทาง โจทก์มีเจ้าหน้าที่ซึ่งตรวจสอบตู้เซฟของจำเลยที่ 3 พบดวงตราประทับจำนวน 53 อัน เป็นตราประทับเกี่ยวกับการเดินทางเข้าออกประเทศต่างๆ จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ครอบครองตราประทับหนังสือเดินทาง จำนวน 53 อัน ส่วนดวงตราประทับนั้นจะเป็นตราประทับปลอมหรือไม่ทางนำสืบของโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ทำปลอมตราประทับดังกล่าวด้วยวิธีการใด และไม่มีพยานหลักฐานอื่นบ่งชี้ว่าในอาคารที่เกิดเหตุมีเครื่องมือในการผลิต ทำตราประทับปลอม

สำหรับความผิดเกี่ยวกับหนังสือเดินทางปลอมนั้น พยานที่โจทก์นำสืบล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจหนังสือเดินทางต่างเบิกความสอดคล้องกัน เชื่อว่าหนังสือเดินทางที่ยึดได้เป็นหนังสือเดินทางที่ทำปลอมขึ้นจริง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมารับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 3 มีความผิดฐานมีไว้ ใช้ ซึ่งหนังสือเดินทางปลอมตั้งแต่ 2 ฉบับขึ้นไป และความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน และพ.ร.บ.ยาเสพติดที่ตรวจพบในตู้เซฟของจำเลยที่ 3

ส่วนนายแอรอน จำเลยที่ 1 และ นายเจมส์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าอาคาร นั้น พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังโดยหนักแน่นว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนไปซื้อตู้เย็น อีกทั้งไม่พยานปากใด เบิกความยืนยันถึงพฤติการณ์ของ นายแอรอน จำเลยที่ 1 ว่ามีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 3 อย่างไร ส่วน นายเจมส์ จำเลยที่ 2 พยานเบิกความเพียงว่า ว่าจำเลยทั้งสามเป็นลูกค้าที่มาเช่าอาคารแต่ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 เกี่ยวข้องกับศพในตู้แช่แข็งโดยตรงและไม่พบลายนิ้วมือแฝงของจำเลยที่ 2 บนถุงดำที่ใช้ห่อศพแช่แข็ง พยานหลักฐานโจทก์ข้อหาร่วมกันซ่อนเร้นทำลาย โดยไม่มีผู้ใดยืนยันว่าจำเลยที่ 1-2 มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการซ่อนเร้นเคลื่อนย้ายศพ และพยานหลักฐานไม่สามารถบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1-2 ได้ร่วมกันกับจำเลยที่ 3 ในความผิด ฐานมีไว้ ใช้ ซึ่งหนังสือเดินทางปลอมตั้งแต่ 2 ฉบับขึ้นไป และความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน และพ.ร.บ.ยาเสพติดฯ อีกด้วย จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

โดยพิพากษาว่า การกระทำของนายปีเตอร์ จำเลยที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรม ฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ให้จำคุกตลอดชีวิต, ฐานเคลื่อนย้ายศพฯ จำคุก 2 ปี, ฐานมีไว้-จำหน่ายหนังสือเดินทางปลอมจำคุก 4 ปี, ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 7 ปีและปรับ 4.5 แสนบาท, ฐานมีกัญชาไว้ในครอบครอง จำคุก 3 เดือน, ฐานมีคีตามีนไว้ในครอบครองฯ จำคุก 1 ปี 6 เดือน, ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุน จำคุก 1 ปี

แต่ทางนำสืบของจำเลยที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างลดโทษ 1 ใน 3 ฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานจึงจำคุก 33 ปี 4 เดือน ฐานเคลื่อนย้ายศพ จำคุก 1 ปี 4 เดือน ความผิดฐานหนังสือเดินทางปลอมจำคุก 2 ปี 8 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 4 ปี 8 เดือน ปรับ 3 แสนบาท ฐานมีกัญชาไว้ในครอบครอง จำคุก 2 เดือน ฐานมีคีตามีนไว้ในครอบครองฯ 1 ปี และฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุน จำคุก 8 เดือน รวมจำคุก 43 ปี 10 เดือน และปรับ 3 แสนบาท ข้อหาอื่นนอกจากนี้ ให้ยกและริบของกลาง และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 แต่ให้ขังไว้ระหว่างอุทธรณ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน