ระวังกลายเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ สตช.เตือนภัยกลุ่มหาคู่เด็ก ทางสื่อออนไลน์ เพราะเข้าถึงได้ง่าย วอนผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด

วันที่ 27 พ.ย.64 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. ชี้แจงกรณีที่ตรวจพบบนสื่อสังคมออนไลน์ว่า ได้มีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ประกาศหาคู่ที่เป็นเด็ก ซึ่งเป็นการสุ่มเสี่ยงว่าจะเกิดการกระทำความผิดและอาจถูกหลอกลวงเชื่อมโยงไปถึงการค้ามนุษย์ในปัจจุบันนี้ ที่ยังคงอยู่ในห้วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สื่อสังคมออนไลน์ได้กลายเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น และเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของประชาชนในด้านของการติดต่อสื่อสารต่างๆ

ผนวกกับเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งก็อาจทำให้มีผู้ที่ไม่หวังดีแฝงตัวเข้ามากระทำความผิดในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการหลอกลวงหรือการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก และสตรี ทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งก็อาจเชื่อมโยงถึงการค้ามนุษย์ด้วยเช่นกัน

ดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและมีการตรวจพบกลุ่มหาคู่เด็กหลายช่วงอายุ หลายกลุ่มบนสื่อสังออนไลน์ ซึ่งในกลุ่มก็มีการโพสต์ข้อความในลักษณะการยื่นข้อเสนอต่างๆ ในการรับเด็กมาเลี้ยงดู เช่น พร้อมดูแลค่าใช้จ่าย ตามใจทุกอย่าง เป็นต้น ทั้งนี้ยังไม่พบการเผยแพร่ภาพลามกอนาจารในกลุ่มดังกล่าว แต่กลุ่มดังกล่าวก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะผิดกฎหมาย

จึงได้มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าไปตรวจสอบกลุ่มดังกล่าว และมีการประสานไปยังเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ ให้เข้าไปตรวจสอบเด็กและครอบครัวในกลุ่มดังกล่าวที่สามารถพิสูจน์ตัวตนได้ เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง และสร้างการรับรู้ รวมถึงสร้างแนวคิดที่ถูกต้องในการใช้สื่อสังคมออนไลน์กับเด็กและครอบครัว อีกทั้งเจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการสืบสวนสอบสวนและพิสูจน์ทราบผู้ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มดังกล่าวต่อไป

โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้กำชับและสั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งทำการสืบสวนสอบสวน และปราบปรามการกระทำความผิดซึ่งเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและสตรีอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้มีผลการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม และเร่งสร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชนถึงปัญหาดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันและสามารถหลีกเลี่ยงป้องกันอาชญากรรมในลักษณะดังกล่าว

การกระทำลักษณะดังกล่าวนั้น เข้าข่ายความผิดหลายมาตรา ได้แก่ความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่ถึง 15 ปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล โดยปราศจากเหตุอันสมควร มีโทษจำคุก 3-15 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000-300,000 บาท หากมีการพาเด็กไปกระทำอนาจาร จะเป็นความผิดฐานพาเด็กอายุไม่ถึง 15 ปี ไปเพื่อการอนาจาร แม้เด็กจะยินยอมก็ตาม มีโทษ จำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ฐานยุยงส่งเสริมหรือยินยอมให้เด็กแสดงหรือกระทำการอันมีลักษณะลามกอนาจารฯ มีโทษ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวอีกว่า จึงขอฝากประชาสัมพันธ์แนวทางการหลีกเลี่ยงป้องกันปัญหาดังกล่าวดังนี้ 1) ผู้ปกครองควรควบคุมการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยให้บุตรหลานใช้สื่อสังคมออนไลน์เพียงลำพัง เนื่องจากอาจจะถูกหลอกลวงได้

2) ปลูกฝังค่านิยมในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่ถูกต้องให้กับบุตรหลาน และสอนรู้จักแยกแยะว่าสิ่งใดถูกต้อง สิ่งใดไม่ถูกต้อง สิ่งใดอันตรายหรือควรหลีกเลี่ยง และ 3) ขอให้ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ช่วยกันเป็นหูเป็นตาในการตรวจสอบการกระทำความผิดบนสื่อสังคมออนไลน์ เพราะทุกคนล้วนเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันปัญหาดังกล่าวและทำให้สังคมออนไลน์น่าอยู่ยิ่งขึ้น

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน