กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปิ๊งไอเดียใช้เสียงเป็นสื่อล่อสัตว์ป่าข้ามฝั่งทับลานมาเขาใหญ่ ลุ้น เสือโคร่ง คืนป่าดงพญาเย็น คุมประชากรช้างป่า สร้างสมดุลนิเวศ เผยพบตัวห่างทางเชื่อมป่า ถ.304 เพียง 1 กม.

เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. นายสว่าง กองอินทร์ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรัษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า หลังมีการก่อสร้างและเปิดใช้ทางเชื่อมผืนป่าถนนสาย 304 ระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานฯ ทับลาน ตั้งแต่ช่วงปี 2562

ปรากฏว่าเริ่มมีสัตว์ป่าข้ามไปมาระหว่างป่าเขาใหญ่ และทับลานจำนวนมาก โดยจากการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าแบบอัตโนมัติ พบว่ามีสัตว์ป่าหลายชนิด ได้ใช้ประโยชน์จากทางเชื่อมป่าข้ามไปมาระหว่าง 2 อุทยานฯ เช่น กระทิง เก้ง หมูป่า และหมี นอกจากนี้ยังพบร่องรอยของเสือโคร่งห่างจากทางเชื่อมผืนป่า ประมาณ 1 กม. แต่ยังไม่พบการปรากฏของเสือโคร่งในพื้นที่อุทยานฯ เขาใหญ่

นายสว่าง กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมานายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้ดำเนิน โครงการ “การใช้สื่อเพื่อเพิ่มศักยภาพในการเคลื่อนที่ของสัตว์ป่า” เพื่อดึงดูดและสร้างโอกาสในการข้ามทางเชื่อมผืนป่าของสัตว์ป่า และส่งผลให้เกิดการกระจายตัวของสัตว์ป่าไปทั่วมรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่

สบอ.1 จึงได้เร่งดำเนินการตามโครงการดังกล่าวในพื้นที่อุทยานฯ ทับลานเป็นแห่งแรก โดยประยุกต์ใช้กล้องซีซีทีวีสามารถรับส่งสัญญาณเสียงผ่านระบบแอพลิเคชันในมือถือ มีการแสดงผลแบบเรียลไทม์เชื่อมต่อกับลำโพงบลูทูธ เพื่อขยายสัญญาณเสียงควบคู่ไปกับการติดตั้งกล้องเอ็นเค็ปส์ เพื่อจับสัญญาณการเคลื่อนไหว และดูแลความปลอดภัยให้กับสัตว์ป่า

โดยอุทยานฯ ทับลานได้ติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวบริเวณพื้นที่พบการปรากฏตัวของเสือโคร่ง เพื่อใช้เสียงเป็นสื่อล่อให้มีการกระจายตัวของเสือโคร่งและสัตว์ป่าอื่นๆ ข้ามมายังฝั่งเขาใหญ่ ก่อนจะใช้เป็นต้นแบบในพื้นที่ป่าอื่นต่อไป

นายสว่าง กล่าวอีกว่า สำหรับเสียงที่ใช้เป็นสื่อล่อ มีทั้งเสียงเสือโคร่งตัวผู้ เสือโคร่งตัวเมีย และเสียงสัตว์ป่าอื่น ๆ โดยเฉพาะสัตว์ที่เป็นเหยื่ออาหารของเสือโคร่ง ซึ่งขณะนี้เสือโคร่งส่วนใหญ่ในป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ จะอยู่ในพื้นที่อุทยานฯทับลาน กับอุทยานฯ ปางสีดา หากมีเสือข้ามมายังฝั่งเขาใหญ่ได้จะเป็นผลดีในเรื่องความสมดุลของระบบนิเวศ

โดยเฉพาะปัญหาช้างป่าซึ่งวันนี้ป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มีช้างป่าถึงจำนวนกว่า 500 ตัว และมีปัญหาช้างออกนอกพื้นที่ป่า เสือโคร่งเป็นสัตว์ผู้ล่าสูงสุดของห่วงโซ่อาหารจะช่วยควบคุมประชากรช้างป่าได้

โดยงานวิจัยพบว่า เสือโคร่งจะล่าลูกช้างที่อ่อนแอ 4-5 ตัวต่อปี ซึ่งที่ผ่านมาเขาใหญ่ขาดสัตว์ผู้ล่าที่เป็นตัวควบคุมประชากรสัตว์ป่าอื่นๆ ไม่เหมือนพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งที่เป็นต้นแบบความสมดุลในเรื่องการควบคุมประชากรสัตว์ป่าด้วยกันเอง

ผบ.สบอ. 1 กล่าวเพิ่มว่า เรื่องที่หลายฝ่ายอาจมีความเป็นห่วงในเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวนั้น หลายอุทยานฯ ในต่างประเทศจะไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไปในพื้นที่เข้มงวดของอุทยานฯ แต่เขาใหญ่มีการใช้ประโยชน์ในเรื่องการท่องเที่ยวมาเป็นเวลานาน ซึ่งกรมอุทยานฯ ก็จะมีมาตรการที่รัดกุมรอบคอบในการดูแลต่อไป อย่างไรก็ตามสัตว์ป่าพวกนี้ส่วนมากกลัวคนไม่ออกมาในที่ๆ มีคนพลุกพล่านอยู่แล้ว


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน