เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่ อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าแนวทางการพัฒนาคลองแสนแสบ โดยมี นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยเลขานุการคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวกับการพัฒนาคลอง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายขจิต กล่าวว่า สำนักการระบายน้ำรายงานความคืบหน้า การสำรวจแหล่งกำเนิดน้ำเสียริมคลองแสนแสบและคลองสาขา ระหว่างวันที่ 1-8 ก.พ.65 พบปริมาณแหล่งกำเนิดน้ำเสียริมคลองในพื้นที่ รวม 400 แห่ง แบ่งเป็น สถานที่จำหน่ายอาหาร 57 แห่ง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 70 แห่ง อาคารบ้านเรือน 273 แห่ง

ประกอบด้วย เขตปทุมวัน 49 แห่ง แบ่งเป็น สถานที่จำหน่ายอาหาร 40 แห่ง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 9 แห่ง เขตวังทองหลาง 29 แห่ง แบ่งเป็น สถานที่จำหน่ายอาหาร 1 แห่ง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 2 แห่ง อาคารบ้านเรือน 26 แห่ง เขตสวนหลวง 283 แห่ง

แบ่งเป็น สถานที่จำหน่ายอาหาร 10 แห่ง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 43 แห่ง อาคารบ้านเรือน 230 แห่ง เขตสะพานสูง สถานที่จำหน่ายอาหาร 1 แห่ง และเขตหนองจอก 38 แห่ง แบ่งเป็น สถานที่จำหน่ายอาหาร 5 แห่ง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 16 แห่ง อาคารบ้านเรือน 17 แห่ง

ส่วนในพื้นที่เขตอื่น สำนักงานเขตและสำนักการระบายน้ำ อยู่ระหว่างการสำรวจ โดยกำหนดระยะเวลาการสำรวจแหล่งกำเนิดน้ำเสียริมคลองแสนแสบและคลองสาขาในพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 1- 28 ก.พ.65

นอกจากนี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สั่งการให้ กทม.กำชับดูแลไม่ให้สถานประกอบการและโรงงานขนาดใหญ่ ทิ้งน้ำเสียลงคลองแสนแสบ และรณรงค์ให้ประชาชนริมคลองแสนแสบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงคลอง เพื่อลดค่าความสกปรก (BOD) ให้ต่ำที่สุด พร้อมทั้งให้เร่งดำเนินการตามแผนระยะยาวในการรวมน้ำเสียเข้าโรงบำบัดที่มีอยู่เดิมกับโรงบำบัดที่ก่อสร้างใหม่

ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองแสนแสบ ให้กทม. ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ตรวจสอบและประชาสัมพันธ์แหล่งกำเนิดน้ำเสียริมคลองแสนแสบและคลองสาขา รัศมี 500 เมตร จากริมฝั่ง ให้รับรู้ถึงผลเสียและรณรงค์ให้มีการบำบัดน้ำเสียก่อนทิ้งลงแม่น้ำลำคลอง

โดยให้ กรอ. ร่วมกับ กทม. และ คพ. ดำเนินการตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรม โดยบังคับใช้กฎหมายให้ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียทุกโรงงาน ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 65 และรายงานผลในการประชุมครั้งต่อไป

นอกจากนี้ ขอให้ กทม. ดำเนินการขุดลอกและขยายคลองแสนแสบให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และผังน้ำที่ สทนช. ศึกษาโครงการวงเงินสูง เป็นที่สนใจของประชาชน ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดและสร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทราบความก้าวหน้าและการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ

ในส่วนของสำนักงานประชาสัมพันธ์ ได้เสนอแผนดำเนินการจัดกิจกรรม On ground ชุมชนต้นแบบริมคลองแสนแสบและคลองสาขา โดยจะประสานสำนักงานเขตเพื่อประเมินศักยภาพและความพร้อมในการจัดกิจกรรม สำหรับรูปแบบกิจกรรมจะกำหนดอีกครั้ง

คาดว่าจะดำเนินการในช่วงเดือนก.พ. เบื้องต้นกำหนดจัดกิจกรรมในชุมชนทางเลือกกลุ่มคลองแสนแสบ ณ ชุมชนสุเหร่าบ้านดอน เขตวัฒนา ชุมชนกมาลุลอิสลาม เขตคลองสามวา ชุมชนมีนบุรีอุปถัมภ์ เขตมีนบุรี และชุมชนทางเลือกกลุ่มคลองลาดพร้าว ณ ชุมชนร่วมใจพิบูล 2 เขตห้วยขวาง และชุมชนหลัง วค. จันทรเกษม เขตจตุจักร

อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายสำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขตพื้นที่ ประสานความร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษ และกรมโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินการตามข้อสั่งการของรมว.มหาดไทย และรองนายกรัฐมนตรี โดยเร่งตรวจสอบการบำบัดน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรมประเภท 1 และ 2 ในพื้นที่ และประชาสัมพันธ์รณรงค์แหล่งกำเนิดน้ำเสียริมคลองแสนแสบและคลองสาขา รัศมี 500 เมตร ให้มีการบำบัดน้ำเสียก่อนทิ้งลงแม่น้ำลำคลอง

พร้อมทั้งมอบหมายสำนักงานเขต 21 เขต ที่มีพื้นที่ริมคลองแสนแสบ สำรวจชุมชนริมคลองแสนแสบตลอดแนว โดยบูรณาการความร่วมมือกับจิตอาสา กองทัพภาคที่ 1 กรมควบคุมมลพิษ และกระทรวงอุตสาหกรรม ในการตรวจสอบการทิ้งน้ำเสียจากชุมชน

รวมถึงแนวทางการบำบัดน้ำเสียและการติดตั้งบ่อดักไขมัน โดยเน้นการเจรจาสร้างความเข้าใจ และให้เขตจัดทำแนวทางการบำบัดน้ำเสียของบ้านเรือนก่อนปล่อยทิ้ง จากนั้นประสานสำนักงานประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน