พบ ‘หินภูเขาไฟ’ เกลื่อนชายหาดอ่าวไทย หลายจังหวัด เจ้าหน้าที่สันนิษฐาน เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเล แต่ยังไม่รู้แหล่งที่มา

9 ก.พ. 2565 – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.สงขลา พบหินขนาดเล็กถูกคลื่นซัดขึ้นมากองรวมกันอยู่จำนวนมาก ตลอดแนวชายฝั่งทะเลของ จ.สงขลา เช่นที่ชายหาดชลาทัศน์ หาดแหลมสมิหลา ทำให้บนพื้นทรายตลอดแนวชายหาดกลายเป็นสีดำ ส่งผลกระทบกับสภาพภูมิทัศน์ของชายหาด

ต่อมาเจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 16 และเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและเก็บตัวอย่างหินที่พบไปทดสอบ

พบว่าเป็นตะกอนหินขนาดเล็ก มีรูพรุนชัดเจน น้ำหนักเบา สีเทาปนเขียว ขนาดอนุภาคตะกอนประมาณ 0.3 – 3 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายหินพัมมิช (Pumice) หรือที่เรียกว่า ‘หินภูเขาไฟ’ เป็นหินประเภทหินอัคนีพุ มีลักษณะเนื้อเป็นฟองและเบา ซึ่งเกิดจากการเย็นตัวของหินหลอมเหลว และแร่ธาตุต่าง ๆ ใต้พื้นโลก

โดยสันนิษฐานว่าเป็น ‘หินภูเขาไฟ’ จากการระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเล แต่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุแหล่งที่มาของหินดังกล่าวได้ ต้องส่งตัวอย่างไปตรวจสอบชนิดและองค์ประกอบ ที่สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 4 จ.สุราษฎร์ธานี อย่างละเอียดอีกครั้ง ทั้งนี้หินดังกล่าวไม่เป็นอันตรายหรือส่งผลกระทบกับสัตว์น้ำแต่อย่างใด

จากการลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่าหินภูเขาไฟกระจายอยู่ทั่วตลอดแนวชายหาดของ จ.สงขลา พบมากในพื้นที่ 8 ตำบลชายฝั่งทะเลของ อ.สทิงพระ ต.วัดจันทร์ ต.บ่อแดง ต.บ่อดาน ต.จะทิ้งพระ ต.กระดังงา ต.สนามชัย ต.ดีหลวง และ ต.ชุมพล นอกจากนี้ยังได้รับรายงานเพิ่มว่า พบหินลักษณะเดียวกันในพื้นที่ชายหาดบ้านทอน จ.นราธิวาส ชายหาดปะนาเระ จ.ปัตตานี และชายหาดหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช รวมถึงยังมีบางส่วนที่ลอยอยู่ตามผิวหน้าน้ำทะเลอีกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน