สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติชวนจับตาใกล้รุ่ง 5 เม.ย. “ดาวเสาร์เคียงดาวอังคาร” บนท้องฟ้าทางทิศตะวันออก ห่างกันเพียง 0.3 องศา

วันที่ 1 เม.ย.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ชวนชม “ดาวเสาร์เคียงดาวอังคาร” รุ่งเช้าวันที่ 5 เม.ย.65 ปรากฏบนท้องฟ้าทางทิศตะวันออก ห่างเพียง 0.3 องศา สังเกตได้ด้วยตาเปล่าตั้งแต่เวลา 03.30 เป็นต้นไป หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน 150 เท่า จะเห็นดาวเคราะห์ทั้งสองอยู่ในช่องมองภาพเดียวกัน

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า รุ่งเช้าวันอังคารที่ 5 เม.ย. ดาวเสาร์และดาวอังคารจะปรากฏใกล้กันบนท้องฟ้า ห่างเพียง 0.3 องศา (การวัดระยะเชิงมุมบนท้องฟ้า ชูนิ้วก้อยเหยียดแขนให้สุดขึ้นบนท้องฟ้า ระยะ 1 องศา จะห่างกันประมาณ 1 นิ้วก้อย) ทางดาราศาสตร์เรียกว่า “การร่วมทิศ”

หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน 150 เท่า สามารถมองเห็นวงแหวนดาวเสาร์ และเห็นดาวเคราะห์ทั้งสองอยู่ในช่องมองภาพเดียวกันได้ เริ่มสังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 03.30 น. เป็นต้นไป ทางทิศตะวันออก มีเวลาสังเกตประมาณ 2 ชั่วโมงก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ในช่วงเวลาดังกล่าวยังมีดาวศุกร์สว่างปรากฏถัดลงมาอีกด้วย

“การร่วมทิศ” คือ ปรากฏการณ์ที่มีวัตถุท้องฟ้า เช่น ดาวเคราะห์ ดวงจันทร์ ดาวฤกษ์สว่างเด่น ตั้งแต่ 2 วัตถุขึ้นไป ปรากฏบนท้องฟ้า โดยมีระยะห่างเชิงมุมไม่เกิน 5 องศา ถือเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์หนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เนื่องจากดาวเคราะห์เปลี่ยนตำแหน่งบนท้องฟ้าไปเรื่อยๆ ตามแนวสุริยะวิถี (เส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์บนฟ้า) ดังนั้น การที่ดาวเคราะห์ปรากฏบนท้องฟ้าในทิศเดียวกัน หรือเคลื่อนที่มาอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกันจึงถือเป็นเรื่องปกติ” นายศุภฤกษ์ กล่าว

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน