ชาวบ้านบุกศาลากลาง ทวงความยุติธรรม เจ้าหน้าที่รัฐเข้าทำลายรื้อถอนผลอาสิน อ้างทำตามโครงการ คสช. ส่งผลเดือดร้อนไร้ที่ทำกินทั้งที่มีแนวเขตชัดเจน เด็กสาวเรียนดี อนาคตไกล ต้องเลิกเรียนมาทำงานหาเงินช่วยครอบครัว

วันที่ 4 เม.ย. 2565 ที่ศาลากลาง จ.ตรัง นายโอฬาร ชนะสงคราม อายุ 68 ปี พร้อมด้วย นายปรีดี รัตนะ อายุ 65 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 6 บ้านโคกออก ต.ตะเสะ อ.หาดสำราญ จ.ตรัง และชาวบ้านกว่า 30 ชีวิต เดินทางมาเรียกร้องขอความเป็นธรรม ได้รับผลกระทบจากการปฎิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐตั้งแต่ปลายปี 2564

นายโอฬาร กล่าวว่า ปัญหาคือเรื่องที่ดินชาวบ้าน 8 ครัวเรือนเนื้อที่ 30 ไร่ซึ่งปลายปี 2564 ที่ผ่านมาทางป่าชายเลนฯนำรถแบ็กโฮไปรื้อทำลายทรัพย์สินของชาวบ้าน มีทั้งสวนปาล์มน้ำมัน สวนยางพาราและอื่นๆชาวบ้านก็ขอร้องแล้วแต่เจ้าหน้าที่ไม่ฟัง แม้กระทั่งปลาที่เลี้ยงไว้เต็มบ่อพร้อมที่จะขายถูกเปิดบ่อทิ้งปลาไปเฉยๆ แทนที่จะให้ชาวบ้านได้จับขายก่อน

ร้องขอความเป็นธรรม

แต่สุดท้ายมาอ้างว่า เป็นคำสั่งประกาศ คสช. ฉบับที่ 63 และ 64 ซึ่งทวงคืนผืนดินในระยะทาง 5 กิโลเมตรแต่ปรากฏว่ามาเอาแค่ 30 ไร่ของชาวบ้าน และมาข่มขู่ชาวบ้านหากใครไม่ยอมและแสดงตนจะถูกจับกุม ซึ่งเป็นความผิดปกติว่าทำไมถึงมาทำลายแค่ของชาวบ้าน 50 ไร่ทั้งที่อีก 5 ก.ม.ยังไม่มีการเข้ายึดและทำลาย

” ข้อมูลกรมป่าไม้ในปี 2541 ยังไม่มีการก่อตั้งกระทรวงทรัพยากรฯได้ไปขุดคูน้ำกั้นแนวเขตแดนว่าฝั่งซ้ายเป็นของประชาชน ฝั่งขวาเป็นของรัฐ ห้ามชาวบ้านบุกรุกเข้าไป และมีการประกาศในขณะนั้นว่าให้ชาวบ้านทำกินได้ในที่ดินที่ได้จัดสรรให้ชาวบ้านแล้ว แต่ 20 กว่าปีต่อมามาอ้างว่าชาวบ้านรุกล้ำเขตป่าชายเลน ทั้งที่มีแนวเขตแบ่งกั้นชัดเจนแล้ว มีการปักหลักเขตแดนใหม่ในที่ของชาวบ้านทำกินอยู่ ต่อสู้กันมายาวนานกว่า 3 ปี

อาสิน

ล่าสุดเจ้าหน้าที่ย้ายหลักเขตกลับที่เดิม ชาวบ้านต่างตั้งคำถามกันว่าถ้าย้ายหลักเขตกลับก็แสดงว่าชาวบ้านที่ทำกินในที่ดิน 30 ไร่ไม่ได้ผิดใช่หรือไม่ แต่เป็นความผิดของข้าราชการ หากคิดเป็นค่าเสียหายนับ 10 ล้านบาท ”

ขณะที่ น้องฉุย อายุ 23 ปี กล่าวว่า จบม.6 จาก กศน. อ.หาดสำราญ เกรดเฉลี่ย 3.65 และได้ไปเรียนต่อคณะสื่อสารภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ชั้นปีที่ 1 โดยเรียนได้เพียงแค่ 1 เทอม ต้องหยุดเรียนเพราะที่บ้านขาดรายได้เนื่องจากปาล์มน้ำมันที่ปลูกไว้ในที่ดิน 11 ไร่ อายุประมาณ 5 ปี ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปทำลายหมด

น้องฉุย

” ก่อนนี้แม่นำโฉนดที่ดินบ้านไปจำนองกับธนาคารนำเงิน 350,000 บาทมาลงทุน ปกติตนก็ทำงานหนักอยู่แล้วเพราะที่บ้านยากจน พอรายได้จากปาล์มหมดไป ก็ต้องทำงานเพิ่ม ทั้งรับจ้างกรีดยาง และรับจ้างทั่วไป เพื่อใช้หนี้ที่เอามาลงทุนระหว่างที่ร้องขอความเป็นธรรมก็ต้องใช้เงินด้วย วันนี้รู้สึกผิดหวังกับเจ้าหน้าที่รัฐ จริงๆเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องช่วยประชาชน แต่กลับกันพวกเขามาทำร้ายเรา ”

รองผู้ว่าฯ

จากนั้น นายไพบูลย์ โอมาก รองผวจ.ตรัง พร้อม นายไมตรี แสงอริยนันท์ ผอ.สบทข.7 นายดำรัส โพธิ์ประสิทธิ์ ผอ.สนง.ทสจ.ตรัง และน.ส.ณัฐยาน์ ทวีวงศ์ หน.สนจ.ตรัง มารับฟังปัญหาพร้อมมอบหมายให้ สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7(สบทข. 7) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ก่อนที่ชาวบ้านจะแยกย้ายกลับ

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน