แพทย์ยัน คาร์ซีทสำคัญ วอนครอบครัว หน่วยงานรัฐ เอกชน รวมตัวเรียกร้องให้ถูกลง แนะเวียนใช้ซ้ำได้ ชี้เด็กนั่งรถตาย ปีละ 140 ราย แถมนั่งหน้าเสี่ยงกว่าเบาะหลัง

วันที่ 10 พ.ค.2565 รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล และหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เผยว่า แต่ละปีมีเด็กที่โดยสารเสียชีวิตปีละ 140 ราย โดยเด็กที่นั่งเบาะหน้า มีความเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าเบาะหลัง ถึง 2 เท่า จึงสนับสนุนให้ใช้คาร์ซีท โดยครอบครัว หน่วยงานควรเรียกร้องให้มีคาร์ซีทที่ราคาถูก เพราะสามารถเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้

ปัจจุบันมีกฎหมายบังคับผู้ขับและผู้นั่งข้าง ทุกคนพึงพอใจที่รถมีเข็มขัดนิรภัยให้ผู้ขับและผู้นั่ง แต่ทำไมไม่มีกฎหมายป้องกันผู้โดยสารด้านหลัง โดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปีที่เมื่อคาดเข็มขัดแล้วไม่พอดี สายรัดเลื่อนขึ้นอยู่ระหว่างลูกตาหรือลอยจากเอวมาที่ช่องท้อง ทำให้เด็กไม่ปลอดภัย เมื่อเกิดอุบัติเหตุชนแล้วพบว่าเด็กม้ามแตกได้ โดยข้อมูลจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ เผยสถิติการเกิดอุบัติเหตุในรถยนต์ทำให้เด็กเสียชีวิตในแต่ละปีหลายร้อยคน จึงไม่มีเหตุผลที่เราจะต้องยืดเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไปให้นานกว่า 120 วัน

สำหรับเรื่องที่เราควรรู้ คือ 1.ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ต้องใช้ตั้งแต่แรกเกิด เป็นความรู้พื้นฐานที่หน่วยงานสาธารณสุข มองว่ายังไม่เกิดการปฏิบัติ หลายคนไม่รู้ว่าต้องมี ยังคิดว่าแรกเกิด – 6 เดือน กระดูกต้นคอยังอ่อน มองว่าไม่จำเป็นต้องใช้ที่นั่งนิรภัย 2.อุ้มเด็กนั่งตัก โดยไม่มีที่นั่งนิรภัย แต่ความจริงคือไม่ปลอดภัย เพราะเมื่อรถเคลื่อนที่เป็นพลังงานที่เกินกว่าแม่จะกอดลูกไว้ได้ โดยเฉพาะการนั่งเบาะหน้า ที่เมื่อถุงลมนิรภัยทำงาน จะเกิดระเบิดย้อนกลับ

ดังนั้นตำแหน่งที่เหมาะสมคือนั่งห่างออกมา 25 ซม. ดังนั้นการเอาเด็กนั่งตัก ทำให้เด็กต้องนั่งใกล้ถุงลมนิรภัยเกินไป กลายเป็นอันตรายมากที่สุด 3.เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี งานวิจัยระบุชัดเจนว่า การนั่งเบาะหน้าข้างผู้ขับมีความเสี่ยงต่อการตายมากกว่าเบาะหลัง 2 เท่า และ 4.ระบบยึดเหนี่ยวในรถเป็นมาตรการความปลอดภัยสำคัญที่สุด แต่ระบบต้องพอดีกับรูปร่างเด็กเพื่อลดการบาดเจ็บ

เข็มขัดนิรภัยเหมาะกับเด็กที่สูงเกิน 135 ซม.ขึ้นไป หรืออายุมากกว่า 9 ขวบ แต่กฎหมายที่ออกมาให้ความสำคัญกับเด็ก 6 ขวบลงมา แต่ในความเป็นจริงตัวเลขส่วนสูง 135 ซม. เป็นช่วงอายุของเด็ก 9 ขวบ ฉะนั้น เด็กอายุต่ำกว่า 9 ขวบ ควรใช้ที่นั่งนิรภัยตามรูปร่าง แบ่งเป็น 3 กลุ่มอายุ คือ กลุ่มแรกเกิด-2 ปี ต้องใช้ที่นั่งนิรภัยนั่งเบาะหลัง หันหน้าเด็กไปหลังรถ

ส่วนกลุ่มอายุ 3-7 ปี ใช้ที่นั่งที่มีเข็มขัดนิรภัยภายในยึด 5 จุดติดกับเบาะหลัง หันหน้าไปหน้ารถ และกลุ่มอายุ 6-7 ปี จะใช้เก้าอี้เสริมคาดยึดเข็มขัดจากตัวรถ ซึ่งราคาจะถูกกว่ากลุ่มอายุอื่นมาก ทั้งนี้ การนั่งเบาะหน้า อาจทำให้เด็กตายจากการทำงานของถุงลมนิรภัยได้

ทั้งนี้ 120 วันก่อนกฎหมายที่ผลบังคับใช้ ไม่ใช่เพียงเวลาที่ประชาชนต้องเตรียมตัวหาอุปกรณ์ พ่อแม่ต้องปรับทัศนคติต่อความปลอดภัยของที่นั่งนิรภัย ขณะเดียวกัน รัฐ องค์กร ประชาสังคม ชุมชน หน่วยงานบริการสุขภาพเด็กต้องเตรียมมาตรการช่วยเหลือการเข้าถึงที่นั่งนิรภัย คือ 1.ให้ความรู้ประชาชนอย่างทั่วถึง 2.สนับสนุนการซื้อ เพราะข้อมูลชี้ชัดว่าการลดอุบัติเหตุของเด็ก ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของรัฐที่ต้องดูแลคนพิการใน 10-20 ปีข้างหน้าได้ ฉะนั้นเป็นการลงทุนมีความคุ้มทุนเพื่อลดการสูญเสีย

3.มาตรการลดต้นทุนผู้ขาย ลดภาษีการนำเข้า ทั้งนี้ ที่ผ่านมากว่า 20 ปี มีจุดบริการภาครัฐลงทุนโครงการนำร่อง เช่น รพ.ใหญ่ 4 ภาค เคยทำโครงการกลับบ้านครั้งแรกอย่างปลอดภัยให้เด็กแรกเกิดออกจาก รพ. โดยใช้ที่นั่งนิรภัยเดินทางกลับบ้าน รพ.เอกชน สนับสนุนที่นั่งหลายร้อยตัว แต่ก็ล้มไป เพราะไม่มีการขยายผลเพื่อบังคับใช้ เช่นเดียวกับบริษัทใหญ่ที่ทำ CSR แต่บุคลากรกลับไม่ได้ทำตามกฎหมายในการดูแลลูก หรือชุมชนปล่อยให้เด็กเดินทางด้วยความอันตราย

ฉะนั้น องค์กรและชุมชนต้องเห็นความสำคัญ หาผลิตภัณฑ์ราคาถูกลงเพื่อทำคลังยืมคืน เนื่องจากที่นิรภัยเป็นสินค้าต้องใช้ตามอายุ หากไม่เกิดอุบัติเหตุรุนแรง ก็สามารถนำมาเวียนใช้ได้

ครอบครัวต้องปรับเปลี่ยนทัศคติ ร่วมกันเรียกร้องหน่วยงานเกี่ยวข้องสนับสนุนให้ท่านเข้าถึงที่นั่งนิรภัยได้ใน 120 วัน แทนที่การทำให้เลื่อนออกไป ลองคิดดูว่าผู้ขับและผู้นั่งข้างได้คาดเข็มขัดนิรภัย แต่ลูกท่านไม่ได้คาดหรือคาดแล้วก็ไม่พอดี ท่านจะยอมคาดเข็มขัดในขณะที่ลูกไม่มีระบบยึดเหนี่ยวอย่างไร

สิ่งที่ครอบครัว ต้องปรับเพื่อร่วมมือ เรียกร้องให้รัฐ องค์ชุมชน หน่วยบริการสุขภาพเด็ก เกิดความร่วมมือและรับผิดชอบร่วมกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน