กรุงเทพมหานคร เดินหน้าพัฒนา “คลองลาดพร้าว-คลองเปรมฯ-คลองแสนแสบ” เร่งติดตั้งถังดักไขมันในชุมชนแก้น้ำเสีย

26 พ.ค. 65 – อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม. 2 เขตดินแดง นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าแนวทางการพัฒนาคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร และคลองแสนแสบ

โดยมี นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยเลขานุการคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวกับการพัฒนาคลอง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายขจิต กล่าวว่า ในที่ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคลองได้รายงานความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร และคลองแสนแสบ ตามที่ได้รับมอบหมายจากการประชุมเมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา การปรับปรุงแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาพื้นที่ริมคลองเปรมประชากร

ประกอบด้วย การเดินเรือจากคลองผดุงกรุงเกษมถึงถนนเทิดราชัน เขตดอนเมือง การปรับปรุงสะพานข้ามคลองรองรับการเดินเรือ จากคลองผดุงกรุงเกษมถึงถนนเทิดราชัน เขตดอนเมือง ชุมชนแจ้งวัฒนะ 5 เขตหลักสี่ ชุมชนเทวสุนทร เขตหลักสี่ (พื้นที่มีอาคารรับน้ำอุโมงค์คลองเปรมประชากร) ชุมชนสามัคคีเทวสุนทร (ซ.งามวงศ์วาน 58) เขตจตุจักร ชุมชนสวนผัก เขตจตุจักร ทางเดินหลังเขื่อนเชื่อมจากวัดเสมียนนารีถึง SCG

ทั้งนี้สำนักการระบายน้ำ กำหนดนัดประชุมในวันที่ 31 พ.ค. นี้ เพื่อติดตามแผนงานตรวจสอบรายละเอียดความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรค กิจกรรมโครงการตามแผนแม่บท เพื่อรวบรวมประกอบการปรับปรุงแผนแม่บทต่อไป

การสำรวจคลองเปรมประชากร ตั้งแต่ทำเนียบรัฐบาลถึงสถานีสูบน้ำคลองเปรมประชากร พบปัญหาและอุปสรรค ทางด้านกายภาพ ประกอบด้วย 1. สภาพคลองมีสภาพตื้นเขินค่อนข้างมากส่งผลต่อระดับน้ำในการเดินเรือ 2. ความกว้างของคลองในแต่ละช่วงมีความแตกต่างกันค่อนข้างสูง

3. มีสิ่งกีดขวางตลอดแนวคลอง ได้แก่ ตอม่อสะพาน โครงสร้างสะพาน ท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ ท่อสายไฟฟ้าสื่อสาร และอื่นๆ 4. สะพานบางช่วงที่พาดข้ามคลองบางแห่งมีความสูงไม่มากอาจส่งผลต่อการเดินเรือ และ 5. มีประตูระบายน้ำ 3 แห่งและสถานีสูบน้ำ 1 แห่ง ขัดขวางการสัญจรการเดินเรือ

ทางด้านการเดินเรือ ประกอบด้วย 1. กรณีมีประตูระบายน้ำหลายแห่งอาจจะส่งผลต่อการควบคุมการเดินเรือรวมถึงระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทางก็เพิ่มมากขึ้น 2. กรณีที่จะไม่มีการรื้อย้ายประตูระบายน้ำจำเป็นต้องมีการก่อสร้างท่าเทียบเรือเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องมีการเปลี่ยนถ่ายจุดขึ้น-ลงเรือโดยสาร

และ 3. หากไม่รื้อย้ายประตูระบายน้ำจำเป็นต้องจัดซื้อเรือโดยสารเพิ่ม เนื่องจากจะต้องแบ่งช่วงการเดินเรือเป็นระยะๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อการตัดสินใจในการจะใช้บริการเรือโดยสารของประชาชนได้

สำหรับโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากร ช่วงที่ 1 จากคลองบ้านใหม่ถึงบริเวณหมู่บ้านแกรนด์คาแนล ความยาว 581 เมตร ดำเนินการแล้วเสร็จแล้ว ช่วงที่ 2 จากสุดเขตกรุงเทพมหานครถึงคลองบ้านใหม่ และจากหมู่บ้านแกรนด์คาแนลถึงถนนสรงประภา ความยาว 5,000 เมตร ลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 20 พ.ค.65 อยู่ระหว่างเตรียมงานก่อสร้าง

ช่วงที่ 3 จากถนนสรงประภาถึงถนนแจ้งวัฒนะ ความยาว 10,000 เมตร ลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 4 มี.ค.65 อยู่ระหว่างเตรียมงานก่อสร้าง ช่วงที่ 4 จากถนนแจ้งวัฒนะถึงถนนเทศบาลสงเคราะห์ ความยาว 10,700 เมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ความคืบหน้า 21.50%

ทั้งนี้ มีชุมชนรุกล้ำริมคลองในพื้นที่เขตหลักสี่ 13 ชุมชน และเขตดอนเมือง 14 ชุมชน ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาสร้างความเข้าใจกับชุมชน

ส่วนการพัฒนาคลองแสนแสบและคลองสาขา ดำเนินการสำรวจและคัดเลือกชุมชนต้นแบบเพื่อติดตั้งถังดักไขมันรวม 33 ชุมชน จาก 21 เขตที่มีพื้นที่ติดริมคลอง ติดตั้งถังดักไขมันแล้ว 312 ถัง สำหรับการสำรวจสถานประกอบการในพื้นที่รัศมี 500 เมตรจากคลองแสนแสบ ที่ต้องถูกควบคุมการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ อาทิ โรงแรม หอพัก อาคารชุด ศูนย์การค้า และตลาด มีจำนวน 482 แห่ง มีระบบบำบัดน้ำเสีย 468 แห่ง ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย 14 แห่ง ซึ่งสำนักงานเขตได้ตรวจสอบแล้วพบว่า สถานประกอบการทั้ง 14 แห่ง มีการบำบัดน้ำเสียด้วยระบบบ่อเกรอะ (Septic Tank)

อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้สำนักการระบายน้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งติดตั้งถังดักไขมันภายในชุมชนเพื่อลดการปล่อยน้ำเสีย ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชุมชนริมคลองไม่ทิ้งขยะและน้ำเสียลงคลอง พร้อมทั้งประสานสถานประกอบการไม่ปล่อยน้ำเสียลงคลอง โดยน้ำที่จะปล่อยต้องผ่านระบบบำบัดน้ำเสียก่อน ส่วนสถานประกอบการใดที่ยังไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย ให้ประสานความร่วมมือในการติดตั้ง หรือดำเนินการตามข้อกฎหมาย นอกจากนี้ให้เจรจาสร้างความเข้าใจกับชุมชนที่รุกล้ำแนวก่อสร้างเขื่อนอย่างต่อเนื่อง ให้เห็นถึงความสำคัญของส่วนรวม ซึ่งจะส่งผลให้สภาพแวดล้อมรอบตัวดีขึ้น เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนริมฝั่งคลอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน