กรมธรณี แจงพบ แผ่นหินคล้ายพระเครื่องดัง ที่น้ำตกโตนเกือก เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาการเคลื่อนที่ของเปลือกโลก

กรณีพบแผ่นหินคล้ายพระเครื่องดัง อาทิ พระสมเด็จ พระซุ้มกอ พระนางพญา ในพื้นที่บริเวณน้ำตก โตนเกือก บ้านศรีพระยา ม.12 ต.ปลายพระยา อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ มีขนาดกว้าง 20 ซม. ยาว 30 ซม. สลับกันไปมาเป็นจำนวนมาก สร้างความแปลกตาให้แก่ผู้พบเห็นนั้น

วันที่ 31 พ.ค.65 กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบายลักษณะทางธรณีวิทยาและการเกิดในลักษณะดังที่ปรากฏให้เห็นได้ ดังนี้ ลักษณะธรณีวิทยา น้ำตกโตนเกือก อยู่ในแผนที่ภูมิประเทศ มาตราส่วน 1:50,000 ของกรมแผนที่ทหาร ลำดับชุด L7018 (WGS84) ระวางแผนที่ 4725 I ระวางบ้านคลองยา พื้นที่บริเวณนี้เป็นหมวดหินลำทับ จัดอยู่ในกลุ่มหินทุ่งใหญ่ ประกอบด้วย หินทราย หินทรายแป้ง หินดินดาน และหินกรวดมน ชั้นหนาปานกลางถึงหนา มีรอยแตกเรียบหลายทิศทา และพบรอยแตกเรียบอย่างเป็นระบบ เรียกว่า ระบบรอยแตกเรียบ (joint set) วางตัวตัดกัน 2 แนวในบริเวณหินที่ผุพังอยู่กับที่คล้ายพระเครื่อง

ปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยา ที่ทำให้มีลักษณะดังกล่าว เกิดขึ้นจาก 1.การเคลื่อนที่ของเปลือกโลกทำให้ชั้นหินบริเวณนี้เกิดแรงบีบอัดหินที่มีคุณสมบัติแข็งเปราะ เกิดการปริแตก เกิดโครงสร้างธรณีวิทยา เช่น รอยแตก เกิดรอยแตกเรียบ รอยเลื่อน นอกจากนี้ยังปรากฏเป็นระบบรอยแตกเรียบวางตัวตัดกัน 2 แนว

2.น้ำที่มีแร่ละลายอยู่ ซึมเข้าไปตามรอยแตก หลังจากนั้นน้ำได้ระเหยไป และทิ้งแร่ธาตุที่ละลายมากับน้ำไว้ในหิน มีลักษณะเป็นเส้นต่อเนื่องภายในระบบรอยแตกเรียบ โดยเส้นเหล่านั้นจะไม่ตัดกัน เรียกว่า fake contour และน้ำที่มีแร่ละลายอยู่ก็ซึมเข้าไปในหินอีกคราว และทิ้งแร่ไว้ภายในหินหลังจากที่น้ำได้ระเหยไป เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นซ้ำ ๆ อีกหลายรอบ

3.ภายในหินบริเวณที่มีแร่ซึมอยู่ จะทนทานต่อการผุกร่อนมากกว่าบริเวณรอบข้าง ปรากฏเป็นลักษณะนูนขึ้นมาคล้ายพระเครื่อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน