นครราชสีมา งานฝีมือจักสานไผ่ครบุรีใต้ สร้างรายได้เสริมช่วงว่างงาน ปราชญ์ชาวบ้านห่วงภูมิปัญญาอย่างเลือนหาย หาคนสืบทอดลำบาก

นายสมศักดิ์ โชนกระโทก วัย 67 ปี อยู่บ้านเลขที่ 142 หมู่ที่ 1 ต.ครบุรีใต้ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา อาศัยเวลาว่างจากการทำไร่ทำนา ใช้วิชาติดตัวที่ร่ำเรียนมาจากพ่อแม่ หาไม้ไผ่มาจักตอก

แล้วสร้างสรรค์ผลงานออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้ง ตะกร้า กระบุง ไซ และเครื่องมืออื่นๆ อีกมากมาย เพื่อไว้วางจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจให้เข้ามาเลือกซื้อกลับไปใช้ภายในครัวเรือน

ถึงแม้ว่าแต่ละวันจะไม่สามารถผลิตได้มากนัก แต่ก็ถือได้ว่าวิชาที่มีติดตัวนี้ ยังสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวได้เป็นอย่างดี

นายสมศักดิ์ เล่าว่า ตนเองใช้เวลาว่างจากการทำไร่ทำนา อีกทั้งด้วยความที่ตัวเองสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง จึงหาวิธีที่จะสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว ด้วยการ ใช้วิชาที่เคยร่ำเรียนมาจากพ่อแม่ มาทำการจักสานไม้ไผ่ไว้วางจำหน่ายให้กับคนที่สนใจ ซึ่งเมื่อทำแล้วปรากฏว่า ได้รับความสนใจเป็นอย่างดี มีกลุ่มลูกค้าเข้ามาถามซื้อกันอย่างไม่ขาดสาย

แม้ว่าแต่ละอย่างจะต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน เนื่องจากเป็นงานฝีมือและต้องใช้ความละเอียดค่อนข้างสูง แต่ก็ถือว่าเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สามารถทำได้ตลอดทั้งวัน เหนื่อยก็พัก ไม่ต้องหักโหม ซึ่งลูกค้าก็เข้าใจดี และสามารถรอได้ ไม่ได้รีบร้อน

โดยราคาสินค้าแต่ละชิ้นก็จะแตกต่างกันไป เริ่มต้นตั้งแต่ 200 ไปจนถึง 500 บาท แล้วแต่ความยากง่ายของชิ้นงาน อย่างเช่นกระบุง ราคา 200 บาท ตะกร้า 250 บาท ไซเล็ก 300 บาท ไซใหญ่ 500 บาท เป็นต้น ซึ่งราคานี้ลูกค้าไม่เคยเกี่ยง และมีคนมาถามซื้อทุกวันชนิดที่ว่าทำกันไม่ทันเลยทีเดียว โดยรายได้แต่ละเดือนก็จะอยู่ที่ 3,000 – 5,000 บาท แล้วแต่ว่าจะมีเวลาทำมากน้อยขนาดไหน

นายสมศักดิ์ บอกอีกว่า ผลิตภัณฑ์ที่ตนเองใช้ฝีมือทำออกมา มีหลายอย่าง ทั้งอุปกรณ์การหาปลา อย่าง ไซ และ ยอ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง กระบุง หรือตะกร้า นั้น ต้องใช้เวลาในการทำต่อชิ้นประมาณ 1 วัน เนื่องจากขั้นตอนในการทำค่อนข้างเยอะ เพราะต้องเริ่มตั้งแต่การไปสรรหาไม้ไผ่ ตัด ลำเลียง แล้วนำมาจักตอก แยกส่วนต่างๆ ก่อนที่จะมาขึ้นรูป

แต่ก็ไม่ได้ถือว่าหนักหนาอะไรมากนัก เพียงแต่หลายขั้นตอนเท่านั้น เพราะงานอย่างนี้ต้องใช้ความละเอียด มือ และประสบการณ์ มาประกอบร่วมกัน ทำให้คนรุ่นหลังไม่อยากที่จะมาสืบทอด จนงานฝีมือนี้กำลังจะหดหายไปทุกที ทุกวันนี้ในพื้นที่ก็ยังไม่รู้ว่าจะหลงเหลือใครที่จะพอทำงานเช่นนี้ได้บ้าง ซึ่งส่วนตัวเองก็เป็นห่วงว่า สักวันหนึ่งงานฝีมือเช่นนี้อาจจะหายไปจากท้องถิ่นในที่สุด จึงอยากให้หน่วยงานหรือใครก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้ช่วยเข้ามาส่งเสริม ผลักดัน และฟื้นฟูงานฝีมือเหล่านี้ให้คงอยู่คู่กับวิถีชีวิตชุมชนต่อไปอย่างยั่งยืนด้วย

ล่าสุดทางเทศบาลตำบลครบุรีใต้ ได้ลงพื้นที่ร่วมกับทีมเจ้าหน้าที่จากโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) ได้ลงพื้นที่เพื่อเข้ามาเก็บข้อมูลและรับฟังปัญหา เพื่อนำกลับไปดำเนินการวางแผนการทำงาน เพื่อที่จะส่งเสริมและสืบสานภูมิปัญญานี้ให้คงอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไปในอนาคตแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน