สธ.เตรียมขยายให้คลินิกเอกชนจัดซื้อ “ยาโมลนูพิราเวียร์” ดูแลผู้ป่วยโควิดได้เหมือน รพ.เอกชน เป็นทางเลือกเพิ่มการเข้าถึงยา ย้ำเฉพาะอาการสีเหลืองขึ้นไป

วันที่ 18 ก.ค.2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการเข้าถึงยารักษาโควิด-19 ว่าผู้ติดเชื้อโควิดไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสทุกราย โดยกรณีกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย สามารถใช้ยารักษาตามอาการ ใช้ฟ้าทะลายโจรได้ หรือตามการพิจารณาของแพทย์ ส่วนผู้ป่วยกลุ่มอาการสีเหลืองขึ้นไปถึงจะให้ยาต้านไวรัส

ปลัดสธ.

“ซึ่งแพทย์จะพิจารณาว่าจะจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ แพกซ์โลวิด รวมถึงแอนติบอดี LAAB ที่จะเข้ามาในสัปดาห์หน้า จะขึ้นกับดุลยพินิจตามแนวทางและข้อบ่งชี้ของกรมการแพทย์ เนื่องจากการใช้ยาเกินความจำเป็นไม่ใช่เรื่องดี มีผลให้ดื้อยา และได้รับผลข้างเคียงจากยาโดยไม่จำเป็น หากไม่จำเป็นก็ต้องไม่กินยา ถ้ายังไม่มีความเสี่ยงแล้วไปกินก็จะมีผลเสียมากกว่าดี ไม่คุ้มค่ากัน ยาเหล่านี้ต้องสั่งใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเท่านั้น การหาซื้อยารับประทานเองอาจได้รับยาปลอมและเป็นอันตรายได้”

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า สธ.ตั้งเป้าหมายให้โรคโควิด เป็นโรคประจำถิ่นที่ผู้ติดเชื้อสามารถดูแลตนเองได้ กรณียาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาที่แพทย์สั่งจ่ายให้ผู้ป่วยนำกลับไปรับประทานที่บ้านได้ โดย รพ.เอกชนได้รับการสนับสนุนยาโมลนูพิราเวียร์จากกระทรวงสาธารณสุข สำหรับดูแลผู้ป่วยโควิดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และจัดซื้อยามาให้บริการผู้ป่วยโควิดเองเพิ่มเติมได้

ดังนั้นเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาโมลนูพิราเวีย์มากขึ้น ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคโควิด (EOC) จึงเตรียมการให้คลินิกเอกชนสามารถจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์มาใช้ดูแลผู้ป่วยโควิดได้ด้วยเช่นกัน ถือเป็นทางเลือก

ยาโมลนูพิราเวียร์

“ที่ประชุมได้มอบหมายให้ รองปลัด สธ. และ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดทำแผนดำเนินการและกรอบระยะเวลาในเรื่องนี้ของโรงพยาบาลและคลินิกเอกชน โดยให้องค์การเภสัชกรรมร่วมจัดหายาเพิ่มเติม ซึ่งในอนาคตอาจขยายให้ร้านขายยาสามารถจ่ายยาโมลนูพิราเวียร์ได้ด้วย แต่ยังต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกรมการแพทย์ คือ เป็นผู้ป่วยอาการสีเหลืองขึ้นไป สำหรับยาโมลนูพิราเวียร์ขณะนี้มีบริษัทที่ขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้ว 3 บริษัท” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัด สธ. กล่าวว่า ขณะนี้ยาเรมเดซิเวียร์มีสำรองทั่วประเทศใช้ได้ประมาณ 20 วัน ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์และยาโมลนูพิราเวียร์ มีสำรองใช้ประมาณ 7-10 วัน ซึ่งตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.เป็นต้นไป องค์การเภสัชกรรม (อภ.) จะผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ได้วันละ 2 ล้านเม็ด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน