วันที่ 21 ม.ค. นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 ( สบอ.6) จ.สงขลา เผยว่า เมื่อวันที่ 20 ม.ค.61 น.ส.มัชฌมณ แก้วพฤหัสชัย น.ส.สรยา ศิริเพชร สัตวแพทย์ สบอ.6 ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) นายสัตวแพทย์กฤตธี เดชยง นายกอบศักดิ์ สุวรรณรัตน์ หัวหน้าสถานี และเจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าโตนงาช้าง สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้ผ่าตัดก้อนเนื้องอกที่เต้านมของเสือโคร่ง ที่คลินิกสัตว์ป่า สบอ. 6

เป็นเสือเพศเมียชื่อ อ้อน้อย 5 อายุประมาณ 20 ปี เดิมเป็นเสือจากวัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) จ.นครปฐม ที่ทางวัดได้ครอบครองอย่างถูกต้อง ได้มอบให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดูแลมาตั้งแต่ปี 58 กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ ได้ส่งต่อให้สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าโตนงาช้าง จ.สงขลา เป็นผู้ดูแลตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.59

“ได้สังเกตเห็นความผิดปกติของก้อนเนื้อบริเวณเต้านมของเสือ จึงได้ร่วมกันวางแผนรักษาเมื่อวันที่ 17 ม.ค.61 ได้วางยาสลบเพื่อตรวจร่างกาย ตรวจก้อนเนื้อและเก็บตัวอย่างเลือดนำมาตรวจในห้องปฏิบัติการ ผลเลือดปรากฏว่าเสือมีความแข็งแรง พร้อมผ่าตัดรักษาเพื่อนำก้อนเนื้อออกวันที่ 20 ม.ค.61 จึงร่วมกันวางแผนและปฏิบัติการ เริ่มด้วยทำการวางยาสลบ แล้วผ่าตัดก้อนเนื้อบริเวณเต้านมของเสือโคร่ง โดยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง”

นายธนิตย์กล่าวว่าผลผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออก ชั่งน้ำหนักได้ 2 กิโลฯ พบว่าผิดปกติเพราะบางส่วนแพร่กระจายเข้าไปในช่องท้อง คาดว่าอาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะภายใน ซึ่งต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยเครื่องเอ็กซเรย์ และจะส่งตัวอย่างก้อนเนื้อไปตรวจทางจุลพยาธิวิทยาเพื่อดูระดับความรุนแรงของก้อนเนื้อ

นายธนิต กล่าวว่าจากการร่วมกันปฏิบัติการระหว่างหน่วยงานของ กรมอุทยานแห่งชาติฯกับ มอ.ต่างได้มีความเห็นตรงกันว่าน่าจะมีการลงนามเอ็มโอยูร่วมกันเพื่อจะได้แลกเปลี่ยนความรู้ แบ่งปันประสบการณ์ เครื่องมือ เวชภัณฑ์ร่วมมือด้านการประสานงาน การบริหารจัดการ วิชาการและทรัพยากร เพื่อบูรณาการแผนงานโครงการเรื่องสุขภาพสัตว์ป่าภาคใต้ของไทย

“สำหรับเสือนั้นทราบว่ามีประมาณ 10 ตัว ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาฮาลาบาลา รอยต่อ จ.นราธิวาส จ.ยะลา เมื่อหลายปีก่อนออกจากป่ามากินคนและถูกตามล่าเข้าไปในป่าที่สุด แต่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เทือกเขาบรรทัด คาดว่าจะไม่มีเสือเพราะไม่พบร่องรอย”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน