ผู้ว่าฯตรัง เต้น วิกฤตบ่อขยะ ‘ไสลาว’ กองมหึมา 7 แสนตัน ส่งกลิ่นเหม็นทั่วเมือง นานนับ 20 ปี สั่งเทศบาลฯ สอบข้อเท็จจริง-เร่งแก้ไขปัญหา รายงานผลใน 7 วัน

กรณีชาวบ้านในชุมชนบางรัก หมู่ที่ 1 หมู่ 3 และหมู่ 5 ต.บางรัก อ.เมืองตรัง ได้รับผลกระทบจากปัญหาบ่อกำจัดขยะเทศบาลนครตรัง (ไสลาว) ตั้งอยู่ในเนื้อที่ประมาณ 60 ไร่ ภายในพื้นที่สนามกีฬาทุ่งแจ้ง ต.บางรัก จำนวนหลายหมื่นตัน ที่มีการนำขยะจากเขตเทศบาลนครตรัง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จากหลายอำเภอ รวมทั้งขยะจากเอกชน มากองรวมกันภายในบ่อ จนสูงเป็นกองพะเนิน ส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่วบริเวณ ทั้งบ้านเรือนประชาชน สถานที่ราชการ และผู้ที่เข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ฯลฯ กว่า 400 หลังคาเรือน

รวมทั้งมีแมลงวันบินว่อนทั่วบริเวณ ลำคลองตลอดแนวริมบ่อขยะมีน้ำเน่าเสีย มีสีดำและเขียวขุ่น ส่งกลิ่นเหม็นคลุ้ง จนกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค ฝูงสัตว์ทั้งนก อีกา และฝูงวัวต่างเข้าไปรื้อคุ้ย และกัดกินขยะภายในบ่อ อีกทั้งยังคงพบเห็นมีการนำขยะไม่ทราบแหล่งที่มามาทิ้งไว้ริมถนนใกล้กับบ่อขยะเทศบาลฯ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานาน 20 ปี มีการนำเสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงไม่มีการแก้ไขปรับปรุงอย่างจริงจัง

ข่าวคืบหน้าเรื่องนี้ นายไพบูลย์ โอมาก รอง ผวจ.ตรัง ปฎิบัติราชการแทน ผวจ.ตรัง ออกหนังสือด่วนที่สุด ที่ตง 0023.3/7905 ลงวันที่ 5 ส.ค. 65 เรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริง เรียนถึง ดร.สัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรัง พร้อมแนบสำเนาจากหน้าเว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ 1 ฉบับ ที่นำเสนอข่าวดังกล่าว

โดยขอให้เทศบาลนครตรังสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว ตามประเด็นความเดือดร้อนจากปัญหาบ่อกำจัดขยะเทศบาลนครตรัง ที่ส่งผลให้ชาวบ้านในชุมชนบางรัก หมู่ที่ 1 หมู่ 3 และหมู่ 5 ได้รับความเดือดร้อน และดำเนินการแก้ไขตามอำนาจหน้าที่ แล้วรายงานให้จังหวัดทราบภายใน 7 วัน

ขณะที่ ดร.สัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรัง กล่าวชี้แจงว่า ปัญหาบ่อขยะทุ่งแจ้ง (ไสลาว) อ.เมืองตรัง ยอมรับว่าเป็นปัญหาใหญ่เรื้อรังมานาน จำเป็นต้องร่วมมือกันเร่งดำเนินการแก้ไข ปัจจุบันมีปริมาณขยะกว่า 7 แสนตัน หลังจากเข้ารับตำแหน่งทางเทศบาลฯ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ก่อนหน้านี้ได้หารือกับทาง อบต.บางรัก เจ้าของพื้นที่เพื่อร่วมกันหาทางออก กำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาเร่งด่วน ระยะสั้นและระยะยาวไว้ 3 แนวทาง

คือ ระยะที่ 1.ขุดร่อนขยะในบ่อประมาณ 5 แสนตัน ระยะที่ 2.เร่งดำเนินการขุดร่อนขยะปากบ่อที่กองเป็นภูเขา ปริมาณร่วม 2 แสนตัน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในเบื้องต้นเท่าที่ทำได้ก่อน อาจจะไม่ได้ผลเต็ม 100 เปอร์เซ็น และ 3.แนวทางแก้ปัญหาระยะยาว คือ ก่อสร้างเตาเผาขยะไฟฟ้าแบบยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โดยร่วมทุนกับภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการ โดยมีแผนเตรียมขนย้ายขยะทั้งหมดออกจากพื้นที่เดิมไปยังพื้นที่ใหม่ ในรัศมีประมาณ 50 กม. คาดอาจต้องใช้เวลาในการขนย้ายขยะออกไปประมาณ 10 ปี เบื้องต้นอยู่ในพื้นที่ ต.นาโต๊ะหมิง อ.เมืองตรัง

ดร.สัญญา กล่าวอีกว่า หลังทราบข่าวชาวบ้านชุมชนบางรักกว่า 400 ครัวเรือน ร้องเรียนถึงผลกระทบจาก บ่อขยะทุ่งแจ้ง “ไสลาว” ที่มีเทศบาลนครตรัง เป็นผู้จัดการดูแล จำนวนหลายแสนตัน ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ กลิ่นเน่าฟุ้งกระจายรัศมีวงกว้างกว่า 3 กม. แถมน้ำในลำคลองเน่าเสีย ทางเทศบาลนครตรัง ไม่ได้นิ่งนอนใจได้ส่งเจ้าหน้าที่ฯ และ สมาชิกสภาเทศบาลฯ ลงพื้นที่ประสานกับชาวบ้านและผู้นำท้องที่เพื่อติดตามปัญหาที่เกิดขึ้นทันที

แต่ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ จะต้องหารือกับหลายฝ่าย หากจะต้องให้ปิดบ่อขยะไปเลยคงต้องคิดทบทวนอย่างรอบคอบ คิดหลายๆ มุม เพราะจะเกิดผลกระทบตามมากับ อปท.อื่นๆ ที่มาทิ้งขยะที่นี้หลังจากนี้ตนจะเร่งหารือกับภาคีเครือข่าย อปท.ตรัง จำนวน50 แห่งที่มีการทำ MOU กันก่อนหน้านี้เพื่อเร่งหาทางออกร่วมกัน

ดร.สัญญา กล่าวทิ้งท้ายในประเด็นการที่ชาวบ้านร้องเรียนในเรื่องสถานที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ เนื่องจากหมดสัญญาการขอใช้จาก อบต.บางรักแล้ว ตั้งแต่ปี 2561 ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่ายังคงมีการใช้อยู่

เรื่องนี้ตนอยากให้มองในหลักของรัฐศาสตร์ มันหมดสัญญาแล้วก็จริง แต่หากยึดตามหลักนิติศาสตร์ ขยะที่มีอยู่จะเอาไปไหน และ ขยะในแต่ละวันของเทศบาลนครตรังเอง และของ อปท.อื่นๆเองจะนำไปทิ้งที่ไหนและจะกำจัดกันยังไง ข่าวคืบหน้าจะรายงานให้ทราบต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน