‘วราวุธ’ เผยผลสำเร็จ 47 ปี สผ. สืบสานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งสู่เป้าหมายทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

8 ส.ค. 65 – ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)

จัดงาน 30 ปี กองทุนสิ่งแวดล้อม และการมอบรางวัล EIA Monitoring Awards 2021 “47 ปี สผ. สืบสานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. เป็นประธานกล่าวเปิดงานว่า เป็นโอกาสอันดีที่ สผ. จะได้นำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิชาการ รวมทั้ง ผลการดำเนินงานที่สำคัญในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ภาคีเครือข่าย

ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชน ได้รับทราบ และการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่เราสามารถยึดมั่นปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมได้

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ทส. โดยสผ. ได้ดำเนินงานที่โดดเด่น อาทิ แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2566 – 2570 ซึ่งน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แนวคิด BCG มากำหนดเป็นแนวทาง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย SDG เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ

รวมถึงอนุสัญญาต่างๆ การพลิกโฉมประเทศไทย ไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 และ Net Zero GHG Emission ภายในปี ค.ศ.2065 รวมถึงยกระดับเป้าหมาย NDC เป็นร้อยละ 40 ในปี ค.ศ.2030 การจัดทำแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตทั้งในและระหว่างประเทศ








Advertisement

การผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพิ่มเติมกลไกควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การสนับสนุนทางการเงิน และคาร์บอนเครดิต รวมถึงผลักดันร่าง พ.ร.บ. ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อการใช้ประโยชน์และการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพและความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม การสนับสนุนแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด ให้ อปท. ให้มีระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย 93 ระบบ รองรับปริมาณน้ำเสีย 1,250,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และระบบกำจัดขยะ 172 ระบบ รองรับปริมาณขยะ 12,000 ตันต่อวัน

การจัดทำแผนผังภูมินิเวศ ในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อวางแผนการพัฒนาและใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับระบบนิเวศ อัตลักษณ์และวัฒนธรรมพื้นถิ่น การขับเคลื่อนการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านชุมชนเก่า ซึ่งเป็นมรดกวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ โดยที่ผ่านมาได้มีการขึ้นทะเบียนย่านชุมชนเก่าไปแล้ว 613 ย่าน รวมถึงการเชื่อมโยงการขอสนับสนุนจากภาคเอกชนผ่าน application มรดกแพลตฟอร์ม

การกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้คุ้มครองและจัดการพื้นที่ที่มีระบบนิเวศตามธรรมชาติที่อาจถูกทำลาย ไปแล้ว 10 พื้นที่ 12 จังหวัด การจัดทำระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย เพื่อเป็น Big Data ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เชื่อมต่อข้อมูล จาก 16 หน่วยงาน ใน 5 กระทรวงหลัก เพื่อตอบโจทย์การจัดการเชิงพื้นที่

การจัดฝึกอบรมเพื่อบูรณาการประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สู่การจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด ให้กับ ๗๗ จังหวัดทั่วประเทศ และนำร่องโครงการจังหวัด การสู้ภัย Climate Change ไปแล้ว 10 จังหวัด รวมถึงจัดทำฐานข้อมูลความเสี่ยงเชิงพื้นที่ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับจังหวัด (Risk Map)

การจัดทำดัชนีสมรรถนะสิ่งแวดล้อม (EPI) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อประเมินประสิทธิภาพการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศเป็นรายปี ผ่านการบูรณาการข้อมูลจาก 21 หน่วยงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศ ให้สามารถแข่งขันบนเวทีโลกบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์

การพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้เข้าสู่ระบบราชการ 4.0 เต็มรูปแบบ โดยยกระดับเป็น e-Service ได้แก่ e-Report e-Monitoring และ e-License เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส งานด้านเครือข่าย ตลอด 30 ปี กองทุนสิ่งแวดล้อมให้การสนับสนุนไปแล้วทั้งสิ้น 1,698 โครงการ เป็นเงินกว่า หนึ่งหมื่นล้านบาท

ซึ่งทำให้ประชาชนได้ประโยชน์มากกว่า 11 ล้านคน สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 2,100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี อนุรักษ์และป้องกันป่า ได้กว่า 2 ล้านไร่ และได้ยกระดับพัฒนาชุดโครงการ ชิงเก็บ ลดเผา สนับสนุน 47 ทสม. 16 จังหวัด เพื่อตอบสนองการแก้ไขวิกฤติเร่งด่วนเรื่องหมอกควัน รวมถึงชุดโครงการ โคก หนอง นา โมเดล เพื่อส่งเสริมการทำเกษตรกรรมยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในพื้นที่ 95 แห่ง 55 จังหวัด

การจัดทำกรอบท่าทีการเจรจา และเข้าร่วมประชุม COP 26 และปรับปรุง LTS และ NDC เพื่อเสนอต่อ UNFCCC ก่อน COP27 และวางกรอบเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทุกๆ 5 ปี ให้มีความเข้มข้นขึ้น และผลักดันการเข้าถึงแหล่งทุนต่างประเทศให้ไทย กว่า 5 พันล้านบาท

การผลักดัน Post 2020 Global Biodiversity Framework รวมถึงเร่งการเตรียมความพร้อมการเข้าร่วมพิธีสารนาโกย่าและพิธีสารคาร์ตาเฮน่า เพื่อแสดงถึงการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดันพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 6 ของประเทศไทยสำเร็จ

ด้าน นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสผ. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 47 ปี สผ. ได้พัฒนางานอย่างมุ่งมั่น ต่อเนื่อง เพื่อสร้างเครือข่ายในการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม โดยในปีนี้ได้มีการจัดงาน 30 ปี กองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือของเครือข่ายในการเข้ามามีส่วนร่วมและสนับสนุนการดำเนินงานกับกองทุนสิ่งแวดล้อม

การมอบรางวัลสถานประกอบการที่ปฏิบัติตามมาตรการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2564 พร้อมทั้งการมอบรางวัลสำหรับเทศบาลที่ได้รับการคัดเลือกในระดับประเทศ ภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืนประจำปี 2564 และการมอบรางวัลนวัตกรรม สผ. ด้วย

นายพิรุณ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของ สผ. ยังมีอีกมาก เพื่อมุ่งหวังให้การพัฒนางานด้านวิชาการและการดำเนินงานกำหนดนโยบาย ที่ยังคงมีความสำคัญอย่างต่อเนื่อง และร่วมกันพัฒนางานด้านวิชาการ ไปสู่การปฎิบัติ ให้เกิดเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นกรอบแนวคิด ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพื่อส่งต่อทรัพยากรธรรมชาติ อันอุดมสมบูรณ์ สู่รุ่นลูก รุ่นหลาน สืบไป

สำหรับงานดังกล่าว มีการจัดประชุมวิชาการ “สผ. ก้าวไปข้างหน้า ต่อยอดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรทั้งจากภาครัฐและเอกชนมาร่วมพูดคุยในประเด็นต่างๆ อาทิเช่นประเด็น “กลไกความร่วมมือ สู่ความยั่งยืน” และ “แนวคิดภูมินิเวศ และการจัดการสิ่งแวดล้อม” เป็นต้น

นอกจากนี้ ภายในงานได้มีการจัดนิทรรศการ ผลงานเด่น สผ. และ การนำเสนอผลงานของเครือข่ายภาครัฐ และเอกชนผ่านบูธนิทรรศการต่างๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน