กรมทะเล ชี้แจงข้อมูลวิชาการ กรณีปล่อยปลา CSR สัตหีบ ระบุฉลามกบสามารถพบได้ในทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน แต่ปลาการ์ตูน ไม่ใช่ปลาประจำถิ่นของอ่าวไทย ติงไม่ควรปล่อยสัตว์น้ำต่างถิ่น เหตุรุกรานถิ่นอาศัยของสัตว์น้ำประจำถิ่น อาจสูญพันธุ์หรือแทนที่ด้วยสายพันธุ์ใหม่ได้

18 ส.ค. 65 – กรณีการจัดกิจกรรมปล่อยฉลามและพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งจัดขึ้นในพื้นที่ของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ทหารเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี โดยมีการปล่อยปลาการ์ตูน ที่คนมองว่า จะเป็น alien species นั้น

ล่าสุด กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้เปิดเผยข้อมูลทางวิชาการกรณีปล่อยปลา ซึ่งเป็นกิจกรรม CSR ในพื้นที่ของ กองทัพเรือดังกล่าว ว่า 1. ได้มีการปล่อยปลาฉลามกบ ที่สามารถพบได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน จึงมิใช่ alien species แต่อย่างใด

2. ได้มีการปล่อยปลาการ์ตูน ซึ่งในประเทศไทย พบ 7 ชนิด ในอ่าวไทยพบเพียง 3 ชนิด ได้แก่ ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง ปลาการ์ตูนลายปล้อง และปลาการ์ตูนอานม้า ในภาพมีพันธุ์ปลาที่ไม่ใช่ปลาประจำถิ่นของอ่าวไทย เช่น ปลาการ์ตูนส้มขาว ปลาการ์ตูนอินเดียน

นอกจากนี้ยังมี ปลาการ์ตูนมะเขือเทศ ที่เป็นสายพันธุ์นำเข้า และไม่พบในประเทศไทย การปล่อยเช่นนี้ นอกจากจะไม่ช่วยในการอนุรักษ์แล้ว ยังจะทำให้ระบบนิเวศทางทะเลเสียหายได้

ปลาการ์ตูนในธรรมชาติจำเป็นต้องอาศัยอยู่ร่วมกับซีแอนนีโมน ในบริเวณที่เป็นแนวปะการัง การปล่อยปลาการ์ตูนจากชายฝั่ง ทำให้โอกาสที่จะรอดชีวิตมีน้อยมาก และการปล่อยชนิดพันธุ์ต่างถิ่นมีโอกาสที่จะไปรุกรานแก่งแย่งถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำประจำถิ่น ทำให้เกิดการสูญพันธุ์หรือแทนที่ด้วยสายพันธุ์ใหม่ได้

นอกจากนี้ปลาการ์ตูนมีการปรับตัวตามถิ่นที่อยู่อาศัย การนำสายพันธุ์ภายนอกอาจเป็นทำให้เกิดลูกผสมที่อ่อนแอทำให้ประชากรเดิมลดลงได้

แนวทางการอนุรักษ์ จึงไม่ควรปล่อยสัตว์น้ำต่างถิ่น ในกรณีของการเพาะพันธุ์เพื่อปล่อย ควรทำเฉพาะสายพันธุ์ที่มีอยู่เดิมในแหล่งธรรมชาติ อนึ่งปลาการ์ตูนไม่จัดเป็นสัตว์คุ้มครองการเพาะพันธุ์เพื่อเลี้ยงเป็นสัตว์สวยงามสามารถทำได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน