อธิบดีกรมชลฯ ส่งเครื่องสูบน้ำ 21 เครื่องช่วยกทม. พร้อมสั่งตั้งเครื่องสูบน้ำเสริมโครงการรังสิตใต้ เสร็จใน 24 ชั่วโมง กู้รังสิต

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้ส่งเครื่องสูบน้ำจำนวน 21 เครื่อง อัตราการสูบน้ำหลายขนาด ตามที่ทางกรุงเทพมหานคร ได้มาประชุมพร้อมกันที่กรมชลประทาน เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2565 ประสานขอความช่วยเหลือ

โดยกรมชลฯได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยติดตั้งและดูแลในพื้นที่ต่างๆ ตามที่กทม.ชี้จุดติดตั้งจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตามพร้อมสนับสนุนเพิ่มหากทางกทม.เจ้าของพื้นที่ร้องขอ

นอกจากนั้นได้สั่งการให้ นายเอนก ก้านสังวอน ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล นำเครื่องสูบน้ำ 9 เครื่อง ไปติดตั้งเสริมเพิ่มเติมที่สถานีสูบน้ำปากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ จังหวัดปทุมธานี จากที่มี 11 เครื่อง เนื่องจากเครื่องสูบน้ำในพื้นที่บางเครื่องเสียอยู่ระหว่างการซ่อม จึงต้องมีการเสริมเครื่อง

โดยให้ติดตั้งให้เสร็จและพร้อมใช้งานภายในวันที่ 8 ก.ย. นี้ และให้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญในการบริหารจัดการเครื่องสูบน้ำเข้ามาดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำในคลองรังสิตฯลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาให้เร็วที่สุด รองรับน้ำจากฝนที่อาจตกลงมาอีก และเมื่อระดับน้ำเจ้าพระยาลดลงตามจังหวะน้ำทะเลขึ้นลงให้เปิดประตูระบายน้ำเพื่อดึงน้ำออกทะเลโดยเร็ว

“กรมชลประทานพร้อมให้การสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักร เครื่องมือ หากพื้นที่ใดมีปัญหาขอให้เร่งประสานเข้ามาเพื่อเข้าไปติดตั้ง ทั้งนี้ได้กำชับไว้อย่างเป็นทางการมาต่อเนื่องว่า ทุกพื้นที่เครื่องมือ และเครื่องสำรองให้พร้อมใช้งาน สามารถนำมาสับเปลี่ยนได้ทันที หากมีหน่วยงานใดแจ้งขอความสนับสนุนเข้ามาต้องพร้อม 24 ชั่วโมง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนให้มากที่สุด”นายประพิศกล่าว








Advertisement

อธิบดีกรมชลฯกล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์น้ำที่แม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี กรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานอุบลราชธานี ร่วมกับสำนักเครื่องจักรกล ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในลำน้ำมูล จำนวน 100 เครื่อง บริเวณสะพานพิบูลมังสาหาร เพื่อเร่งผลักดันน้ำลงสู่แม่น้ำโขงให้รวดเร็วขึ้น

ทั้งนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานทุกแห่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด พร้อมปฏิบัติตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ทั้ง 13 มาตรการ อย่างเคร่งครัด

รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ทันที และตรวจสอบระบบชลประทานให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ และบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแนวทางรับมือสถานการณ์น้ำ.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน