เด็กเล็ก-มีโรคประจำตัว ติดเชื้อ RSV อาจรุนแรงถึงชีวิต ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แนะผู้ปกครองสังเกตอาการ ย้ำป้องกันด้วยการสวมหน้ากาก ล้างมือ

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2565 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงโรคติดเชื้อไวรัส RSV ว่า โดยทั่วไปเด็กที่มีร่างกายแข็งแรง เมื่อติดเชื้อไวรัส RSV มักจะมีอาการน้อย คล้ายไข้หวัดธรรมดา มีน้ำมูกไหล ไอ จาม มีไข้ คออักเสบ แต่ในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี หรือทารกคลอดก่อนกำหนด หรือในกลุ่มเด็กที่มีโรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ ภูมิต้านทานบกพร่อง อาจมีอาการรุนแรงเป็นหลอดลมฝอยอักเสบ ปอดบวม ไข้สูง ไอมีเสมหะ หายใจหอบจนอกบุ๋ม หายใจแรง หายใจออกลำบาก หรือหายใจมีเสียงวีด ซึม ตัวเขียว

“ในบางรายอาจไอมากจนอาเจียน ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ รายที่รุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ปกครองจึงควรหมั่นสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด หากมีอาการรุนแรงดังกล่าว ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาต่อไป”

สำหรับไวรัส RSV ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ โดยเชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเยื่อบุตา จมูก ปาก หรือผ่านการสัมผัสเชื้อโดยตรงจากการสัมผัสผู้ป่วย สารคัดหลั่งจากปาก จมูก และทางลมหายใจผู้ป่วย ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัส RSV ดังนั้น การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ สำหรับผู้ป่วยเด็กที่มีอาการรุนแรงจำเป็นต้องรับไว้รักษาใน รพ.

ทั้งนี้ ช่วงฤดูฝนถึงฤดูหนาวเป็นช่วงที่มีโอกาสแพร่เชื้อสูง เป็นช่วงการระบาด ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการลดความเสี่ยงและป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV ในลูกน้อย ซึ่งทำได้โดยดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นล้างมือให้สะอาด แยกผู้ป่วย RSV เพื่อป้องกันการติดต่อทางการสัมผัส ทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ สวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ในที่แออัดหรือในบริเวณสาธารณะ ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเมื่อมีน้ำมูกคั่ง ดื่มน้ำที่สะอาดในปริมาณที่ควรได้รับ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน