ผู้เสียหาย โดนลิงก์อ้างสรรพากร ดูด 1.5 ล้าน ยื่นหนังสือ 2 ธนาคาร จี้คืนเงินทั้งหมด พร้อมบี้ให้ตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมอย่างละเอียด

กรณี นางนิส ไทรงาม อายุ 63 ปี ชาว อ.ห้วยยอด จ.ตรัง พร้อมด้วย น.ส.นิดา ไทรงาม อายุ 35 ปี ลูกสาว และ น.ส.ศิริวรรณ ไทรงาม อายุ 36 ปี ลูกสะใภ้ ร้องเรียนผู้สื่อข่าวว่า ถูกมิจฉาชีพโทรศัพท์เข้ามาอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรแจ้งเรื่องค้างภาษี พร้อมแชทไลน์ส่งลิงก์อ้างเป็นลิงก์เว็บกรมสรรพากรเข้ามา ให้ น.ส.นิดา กดลิงก์เข้าไปตรวจสอบว่า มีการค้างภาษีหรือไม่

ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงที่จะต้องยื่นจ่ายภาษี แต่เมื่อกดเข้าไปแล้วโทรศัพท์ค้างขึ้นหน้าจอเป็นสีฟ้า มีโลโก้กรมสรรพากร พร้อมข้อความว่า “668325 อยู่ระหว่างการทำการตรวจสอบชื่อนาม-สกุล ห้ามใช้งานโทรศัพท์” และโทรศัพท์ไม่สามารถทำอะไรได้อีก

จากนั้นปรากฏว่า ในเวลาและนาทีเดียวกันกับที่โทรศัพท์ค้าง ทำธุรกรรมใดๆ ไม่ได้อีกเลย ก็ปรากฏข้อความเงินถูกโอนออกจากบัญชี ธนาคารไทยพาณิชย์ จำนวน 1,458,000 บาท และธนาคารกรุงไทย จำนวน 10,000 บาท รีบประสานติดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคาร และเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ห้วยยอด ทราบเบื้องต้นว่าเงินถูกโอนเข้าบัญชีชื่อ น.ส.สุภาพร กุลอามาตย์ และทางธนาคารได้ทำการอายัดบัญชีแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่ทันการณ์ เงินถูกโอนต่อไปยังบัญชีอื่นๆ อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม หลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้น ผู้เสียหายปรึกษาทนายความ เพื่อฟ้องเรียกค่าเสียหายจากธนาคารทั้ง 2 ธนาคาร โดยทนายความระบุว่า เป็นการโจรกรรมเงินผ่านลิงก์ปลอม ที่อ้างว่าเป็นของกรมสรรพากร ซึ่งหากธนาคารมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีพอ ใครก็ไม่สามารถจะเจาะข้อมูลของธนาคาร และดูดเงินไปได้ เงินนั้นจึงเป็นเงินของธนาคาร ไม่ใช่เงินลูกค้า เพราะลูกค้าตัวจริงไม่ได้เบิกถอนเอง

โดยทางผู้เสียหายเพียงแค่ทำการกดลิงก์เพื่อตรวจสอบข้อมูลเรื่องภาษี ไม่ได้มีการทำธุรกรรมทางการเงินแต่อย่างใด จึงเรียกร้องผู้เกี่ยวข้องเร่งหาทางป้องกันการทำธุรกรรมทุกประเภทผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพราะตอนนี้เป็นปัจจัยหลักในการใช้ชีวิตแล้วนั้น

ล่าสุด นายไกรสร ชูเพชร ทนายความ พร้อมด้วยผู้เสียหายทั้ง 3 คน เดินทางไปยื่นหนังสือถึงผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาห้วยยอด และ ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาห้วยยอด โดยมีเรียกร้อง 2 ข้อคือ 1.ขอให้ธนาคารดำเนินการคืนเงิน จำนวน 1,458,000 บาท และจำนวน 10,000 บาท ให้กับเจ้าของบัญชีภายใน 3 วันทำการ

2.ขอให้ธนาคารส่งข้อมูลการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียหายว่า มีผู้ใดเป็นผู้เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ตามที่ผู้เสียหายได้แจ้งไว้ต่อธนาคาร โดยเป็นการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ นับตั้งแต่วันที่ 1-13 กันยายน 2565 ซึ่งให้ส่งให้กับเจ้าของบัญชีภายใน 3 วันทำการ

นายไกรสร กล่าวว่า การเดินทางมายื่นหนังสือต่อธนาคารทั้ง 2 ธนาคาร เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ตัวผู้เสียหายไม่ได้ใช้แอพพลิเคชั่นโอนเงินออกจากบัญชีธนาคารด้วยตัวเอง จึงจำเป็นต้องมีหนังสือเพื่อขอให้ทางธนาคารคืนเงิน และขอให้ธนาคารส่งรายงานการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียหายว่า ก่อนเกิดเหตุมีใครเป็นผู้เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียหาย

ซึ่งผู้จัดการธนาคารทั้ง 2 ธนาคาร ได้รับปากว่า จะส่งหนังสือให้กับผู้บริหารระดับสูงได้รับทราบ และเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด หลังจากนี้ทีมทนายความจะช่วยกันดูเรื่องข้อกฎหมายว่า จะดำเนินการฟ้องร้อง เรียกร้อง เอาเงินคืนจากบุคคลใด และจะดำเนินการทางคดีต่อไป

ส่วนกระบวนการของตำรวจนั้น ล่าสุดทั้งตนเองและผู้เสียหายได้ไปให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวน สภ.ห้วยยอด ในฐานะพยานไว้แล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน